ประมงพื้นบ้านจับมือองค์กรแรงงาน เผยภาคประมงยังมีปัญหาสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม

เปิดตัวงานวิจัยพร้อมเสนอธุรกิจเอกชนและรัฐบาลแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
เครือข่ายประมงพื้นบ้านจับมือองค์การภาคประชาสังคมด้านแรงงาน ร่วมกันแถลงในนาม ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (Civil Society’s Coalition for Ethical and Sustainable Seafood) เปิดเผยผลวิจัย 2 ชุด พบแรงงานประมงในไทยยังต้องทำงานเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด เสี่ยงอันตราย และเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิน้อย ส่วนประมงแบบไม่ยั่งยืนทำเศรษฐกิจเสียหายไม่น้อยกว่า  145 ล้านบาทต่อปี เสนอปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย ระบบตรวจสอบ และการร้องเรียนในอุตสาหกรรมประมง ตลอดจนเร่งประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมของการประมงไม่ยั่งยืนอย่างจริงจัง
แรงงานประมงในไทยทำงานเกินเวลา เสี่ยงอันตราย รู้สิทธิน้อย
งานวิจัยชิ้นแรกคือ ชีวิตติดร่างแห: รายงานสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย  ค้นพบว่าแรงงานที่ทำงานบนเรือประมงไทยถึง 1 ใน  5 ต้องทำงานเกิน 14 ชั่วโมงต่อวัน และมากกว่า 1 ใน 3 ไม่ได้นอนพักผ่อนเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายแรงงานที่กำหนดให้ทำงานไม่เกิน 14 ชั่วโมงต่อวัน และมีเวลาพักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงติดต่อกัน โดยแรงงาน 92% ที่ให้ข้อมูลเปิดเผยด้วยว่านอกจากการทำงานบนเรือประมงแล้ว พวกเขายังต้องทำงานเพิ่มเติมบนฝั่งอีกราว 5 ชั่วโมงในวันที่นำเรือเข้าฝั่งและออกจากฝั่งด้วย
นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เปิดเผยว่า “งานบนเรือก็หนักอยู่แล้ว แรงงานประมงทั้งคนที่ต้องทำงานเกินเวลาตามกฎหมายและไม่เกิน เกือบทุกคนยังต้องทำงานบนฝั่งเพิ่มเติมอีก จะเห็นว่าพวกเขาต้องทำงานหนักมากๆ เพื่อแลกกับค่าจ้าง ซึ่งตรงนี้เรามองว่าเป็นช่องโหว่ที่ภาครัฐควรเข้ามาตรวจสอบและกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานให้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น”

ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมฯ ระบุว่าความพยายามการปกป้องสิทธิแรงงานประมงในไทยมีความก้าวหน้าหลายประการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีช่องโหว่ที่ต้องแก้ไขอีกมาก โดยงานวิจัยพบว่าสภาพการทำงานของแรงงานประมงยังน่าเป็นห่วง แม้ว่าแรงงานส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับให้ใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างเสื้อชูชีพ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่กำหนดให้เรือทุกลำต้องมีตามกฎกระทรวงที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2559 แต่มีแรงงานเพียง 12% เท่านั้นที่ระบุว่าพวกเขาได้รับการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือประมงอย่างปลอดภัย ขณะที่ 35% ระบุว่าบนเรือไม่มียาสามัญประจำบ้านและชุดปฐมพยาบาล 16% ระบุว่าไม่มีอาหารเพียงพอ และ 3% ไม่ได้รับอนุญาตให้พักผ่อนเมื่อล้มป่วย

งานวิจัยฉบับนี้ยังว่าพบแรงงานประมง 62% ระบุว่าพวกเขามีพาสปอร์ตหรือเอกสารสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity)  ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเพียง 15% ในการสำรวจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปี 2560 อย่างไรก็ตาม เกือบ 2 ใน 3 ของแรงงานตอบว่าพวกเขาไม่ได้เก็บเอกสารไว้กับตัวเอง ส่วนใหญ่ถูกนายจ้าง คนเรืออาวุโส ฝ่ายบริหารจัดการของบริษัท หรือนายหน้าเก็บเอาไว้ ซึ่งผิดกฎกระทรวงที่ห้ามนายจ้างเก็บเอกสารสำคัญส่วนตัวของแรงงาน นอกจากนี้ แรงงาน 39% จำไม่ได้ว่าพวกเขาเคยเซ็นสัญญาทั้งงาน และ 95% ไม่ได้รับสำเนาสัญญาจ้างงานจากนายจ้าง ซึ่งผิดกฎหมายเช่นกัน
สำหรับประเด็นการรับรู้สิทธิแรงงาน งานวิจัยของภาคีเครือข่ายฯ ระบุว่า 70% ของแรงงานประมงรู้สึกว่าไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิแรงงานอย่างเพียงพอ โดยกว่า 36% เข้าไม่ถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน และแรงงานมากถึง 90% ไม่เคยยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงาน เนื่องจากไม่รู้ขอบเขตสิทธิของตนเอง
นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เปิดเผยว่า “แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งภาคประชาสังคมที่มีเป้าหมายร่วมในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในภาคประมงของไทยอย่างเป็นระบบ และเราก็เห็นพัฒนาการในหลายๆ จุดตามที่ได้พูดถึงมาแล้ว แต่งานวิจัยก็สะท้อนให้เห็นว่าตัวนโยบายกับการนำไปปฏิบิติหรือบังคับใช้อาจจะยังไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างสมบูรณ์”
จากข้อค้นพบทั้งหมดในงานวิจัย ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ได้ประกาศข้อเสนอไปยังรัฐบาลไทยทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาระบบการร้องเรียนจากแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ออกกฎหมายห้ามบังคับเก็บค่านายหน้าจากแรงงาน ส่งเสริมการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐ และให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 ว่าด้วยว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง (ILO Convention 98/87) ที่กำหนดให้รับรองสิทธิการรวมตัวและการต่อรองของแรงงาน
นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ยังเสนอไปยังภาคเอกชนในอุตสาหกรรมประมงไทยให้เข้ามามีบทบาทในการปกป้องสิทธิแรงงานมากขึ้น ส่งเสริมการจ้างงานอย่างเป็นธรรม จ่ายค่าจ้างอย่างเหมาะสม ยุติการเก็บค่านายหน้าจากแรงงาน เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยบนเรือให้มีสูงขึ้น เปิดโอกาสให้แรงงานเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะที่ภาคเอกชนที่เป็นผู้ซื้ออาหารทะเลในต่างประเทศก็ควรสนับสนุนผู้ส่งออกที่ให้ความสำคัญกับอาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืนเช่นกัน
ประมงไม่ยั่งยืนทำสูญเสียลูกปลาเศรษฐกิจ มากกว่า 74 ชนิด กระทบเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 145 ล้านบาทต่อปี
ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมฯ ยังเปิดเผยข้อค้นพบเบื้องต้นในงานวิจัยอีกชิ้นซึ่งศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน โดยพบว่าการทำประมงด้วยอวนลากและอวนล้อมปั่นไฟกลางคืนสร้างความเสียหายอย่างมากต่อทะเลไทย เพราะอวนทั้ง 2 ประเภทเป็นเครื่องมือหลักในการจับลูกปลาเศรษฐกิจไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์ แทนที่จะปล่อยให้โตเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงกว่า 145 ล้านบาท

จากการคาดคะเนเบื้องต้นพบว่าการใช้อวนลากแผ่นตะเฆ่ทำให้สูญเสียลูกปลาเศรษฐกิจมากกว่า 74 ชนิด เช่น ปลาทู ปลากระพง ปลาอินทรี ปลาจะละเม็ด ปลาเก๋า เป็นต้น  “มีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยจะต้องทำ EHIA เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการทำประมงโดยจับลูกปลาวัยอ่อน ถ้ายังไม่เร่งแก้ปัญหา เราเป็นห่วงว่าทรัพยากรทางทะเลไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งได้รับความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ” นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
รายงานฉบับสมบูรณ์จะเสร็จสิ้นและมีการเผยแพร่ให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจต่อไป


เปิดตัวภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมฯ
การแถลงข่าวครั้งนี้ยังถือเป็นการเปิดตัวต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการของภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (CSO Coalition for Ethical and Sustainable Seafood) ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาสังคมทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อร่วมทำงานแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมประมงไทย
“การทำงานของภาคีเครือข่ายฯ เราจะเน้นไปที่การใช้ข้อมูล งานวิจัย และหลักฐานที่เชื่อถือได้ต่างๆ เพื่อผลักดันให้ภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศสานต่อการแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมในอุตสาหกรรมประมงไทยอย่างจริงจังมากขึ้น เราอยากให้คนไทยทุกคนกล้าพูดได้เต็มปากว่าอาหารทะเลไทยเป็นอาหารทะเลที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย และไม่ได้ถูกผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของแรงงานที่ถูกกดขี่” นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวปิดท้าย
ข้อเสนอแนะเชิงโยบายจากภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน
17 พฤษภาคม 2561
ด้านแรงงาน:
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย
  1. กำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจนในการห้ามนายจ้างและนายหน้าจัดหางานที่มีใบอนุญาตรับรองจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดหางาน (Recruitment fees) จากแรงงานข้ามชาติ
  2. ประสานงานกับองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาปรับปรุงกลไกการร้องเรียนที่มีอยู่ ทำให้กลไกเหล่านั้นมีความโปร่งใสมากขึ้นเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
  3. พัฒนาปรับปรุงเรื่องการสื่อสารกับชุมชนแรงงานข้ามชาติและการเผยแพร่ข้อมูลผ่านความร่วมมือกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
  4. สนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายระดับจังหวัดของศูนย์สวัสดิกาแรงงานประมงโดยร่วมมือกับองค์กรประชาสังคมในท้องถิ่น
  5. เปิดโอกาสให้องค์กรประชาสังคมที่จดทะเบียนได้สังเกตการณ์การปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก โดยมีการแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
  6. ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม พ.ศ. 2492 (ฉบับที่ 98) และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ. 2491 (ฉบับที่ 87) ไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศยังมีชุดข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นสิทธิแรงงาน สามารถดูได้ที่ http://www.ilo.org/asia/publications/WCMS_619727/lang--en/index.htm

ข้อเสนอแนะต่อวงหารือ Seafood Task Force

  1. มุ่งมั่นในการขจัดการจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดหางาน (Recruitment fees) และเปิดเผยความคืบหน้าต่อสาธารณะในการขจัดการจ่ายค่าธรรมเนียมจัดหางานในกลุ่มคนงานที่ได้รับการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทานของสมาชิก
  2. ผู้ซื้ออาหารทะเลควรจะสนับสนุนคู่ค้า (suppliers) ให้ร่วมมือกับประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และผู้กำกับดูแลกฎระเบียบ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงมาตรการต่างๆ ในการเสริมสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยบนเรือประมงให้ทันสมัย  เราเสนอแนวทางต่อไปนี้:
  • ปรับปรุงคู่มือและเอกสารสื่อสารต่างๆ ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับเรือที่ติดธงชาติไทยให้ทันสมัย โดยปรึกษาหารือกับประชาสังคมและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และคำนึงถึงความเป็นจริงของการทำงานบนเรือประมงที่ต่างประเภทกัน
  • สนับสนุนและกำหนดแผนการฝึกอบรมลูกเรืออย่างน้อย 1-2 คน ต่อเรือ 1 ลำ ตามคู่มือการฝึกอบรมที่จัดทำขึ้น โดยผู้ประกอบการเป็นคนดำเนินการด้านงบประมาณและแรงงานที่เข้าร่วมการอบรมจะต้องได้รับใบประกาศผ่านการฝึกอบรม
3. ก่อตั้งหลักสูตรการติดตามตรวจสอบที่เป็นอิสระและมีการประเมินผลหลังการอบรม โดยควรกระทำผ่านภาคประชาสังคม เพื่อดูแลให้:
  • ผู้รับการอบรม/อาสาสมัครนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมเรื่องความปลอดภัยไปใช้อย่างเหมาะสม
  • อาสาสมัครได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระว่ามีตัวตนอยู่จริง
  • อาจมีการสนับสนุนและการอบรมเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตรที่มีประโยชน์ และสอดคล้องกับความต้องการของลูกเรือ
  • จัดให้มีอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเรืออย่างเพียงพอ
4. สนับสนุนให้คนงานเข้าถึงกลไกการร้องเรียน ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และการมีตัวแทนทางกฎหมาย และดูแลให้กลไกเหล่านั้นมีประสิทธิภาพและสามารถสนองตอบต่อสถานการณ์เร่งด่วนโดย:
  • ผู้ซื้อควรจะทำให้กลไกแสดงความเห็น/ร้องเรียนของคนงานมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น และให้ภาคประชาสังคมมีส่วนในการเข้าถึงข้อมูลจากฝ่ายแรงงาน เพื่อที่ภาคประชาสังคมจะสามารถติดตามการให้ความช่วยเหลือเยียวยาที่มาจากคู่ค้าชั้นแรกและชั้นสองในการแก้ไขปัญหาที่มาจากข้อร้องเรียนของแรงงาน
  • ผู้ซื้อควรจะให้ความสำคัญกับคู่ค้าที่ตระหนักถึงความสำคัญของกลไกแสดงความเห็น/ร้องเรียนของแรงงาน และคู่ค้าที่ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นทางนโยบายของบริษัทในประเด็นนี้  ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนการพูดคุยเสวนาระหว่างแรงงานกับฝ่ายบริหาร การจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการที่มีตัวแทนของแรงงานอย่างเป็นธรรม และให้แรงงานสามารถเข้าร่วมสหภาพแรงงานได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องถูกคุกคามหรือลงโทษ
  • จัดตั้งศูนย์บริการครบวงจร (One Stop Center) ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกรณีร้องเรียนต่างๆ จากองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย ศูนย์นี้จะทำหน้าที่สำคัญในการส่งต่อข้อมูลกรณีร้องเรียนต่างๆ และแจ้งแก่ผู้ซื้อและคู่ค้าชั้นแรกในเวลาที่เหมาะสม
  • ทำงานร่วมกับองค์กรประชาสังคมในการพัฒนาปรับปรุงความเข้าใจของแรงงานข้ามชาติเกี่ยวกับอุปสรรคต่างๆ ในการเข้าถึงกลไกการร้องเรียนของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในแต่ละท่าเรือในจังหวัดชายฝั่ง  คณะกรรมการควรจะมีโครงสร้างแบบประชาธิปไตยโดยมีผู้แทนจากแรงงานประมง และควรจะทำงานโดยร่วมมือกับผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารในแต่ละสถานประกอบการ  คณะกรรมการสวัสดิการจะต้องเป็นอิสระจากนายจ้าง/สมาคมอุตสาหกรรม และสามารถเป็นตัวแทนของความเห็นและข้อกังวลที่คนงานยกขึ้นมาได้อย่างเป็นธรรม
  • จัดตั้งกองทุนสำรองเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแบบทันท่วงทีเพื่อเป็นการเยียวยาแก่แรงงานประมงที่ถูกละเมิดหรือมีปัญหาที่เกี่ยวกับการทำงาน
5. มุ่งมั่นในการให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและมีวิธีการจ่ายค่าแรงที่โปร่งใส โดยให้คู่ค้าที่เป็นสมาชิกปฏิบัติดังต่อไปนี้
  • จ่ายค่าแรงและค่าทำงานล่วงเวลาโดยสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศที่รับรองในอุตสาหกรรมประมง  ค่าตอบแทนของแรงงานประมงจะต้องสะท้อนถึงสภาพการทำงาน ความเสี่ยง และความเปราะบางของการทำงานในภาคอุตสาหกรรมนี้
  • ให้คำสัญญาต่อสาธารณะว่าจะให้ค่าแรงที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ  (living wage) ภายในปี 2563  ค่าตอบแทนแบบนี้ควรจะถูกกำหนดในระหว่างกระบวนการเจรจาต่อรองที่มีตัวแทนจากแรงงานประมง องค์กรภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
  • ดูแลให้แรงงานประมงสามารถเข้าถึงสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการที่เหมาะสมกับสภาพการทำงานในระหว่างการจ้างงาน
  • จ่ายค่าแรง ค่าทำงานล่วงเวลา และสวัสดิการอื่นๆ อย่างโปร่งใสและติดตามได้ผ่านช่องทางการโอนเงินทางธนาคารอิเล็กโทรนิคส์ และตามที่กำหนดโดยกฎหมาย
6. ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการผลักดันส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุม และการรวมตัวในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ สมาชิกยังควรสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผลักดันส่งเสริมให้มีการคุ้มครองแรงงานที่เข้มแข็งกว่านี้ ดังต่อไปนี้:
  • ไม่สนับสนุนคู่ค้าให้ใช้การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชน (Strategic Litigation Against Public Participation - SLAPP) และแสดงจุดยืนต่อสาธารณะเมื่อคู่ค้าหรือรัฐบาลใช้ SLAPP ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
  • กำหนดมาตรการแทรกแซงทางการค้ากับนายจ้างที่ใช้ SLAPP กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและแรงาน
  • จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อสนับสนุนนักปกป้องสิทธิแรงงาน
  • ส่งเสริมให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม พ.ศ. 2492 (ฉบับที่ 98) และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ. 2491 (ฉบับที่ 87) ไปพร้อมกัน
ด้านสิ่งแวดล้อม:
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย


1. ขอให้รัฐมีการบริหารจัดการทรัพยากรทะลที่คำนึงถึงสัตว์น้ำวัยอ่อน
รัฐบาลไทยออกกฎหมายและมาตรการในการจัดการการประมงจำนวนมากซึ่งยังไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวิถีการทำประมงของชาวประมงพื้นบ้าน ชาวประมงพื้นบ้านยังคงมีคำถามต่อการใช้ค่า Maximum Sustainable Yield (MSY) ในประเทศที่มีสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์อยู่ร่วมกันสูง และการแบ่งสัดส่วนการจับอย่างไม่เป็นธรรมและไม่คำนึงถึงความยั่งยืน โดยเฉพาะการไม่คำนึงถึงการบริหารจัดการสัตว์น้ำวัยอ่อน เครื่องมือประมงโดยเฉพาะเครื่องมือประมงทำลายล้างสูง โดนเฉพาะอวนลากและเรือปั่นไฟได้รับสัดส่วนเป็นจำนวนมาก โดยเครื่องมือเหล่านี้ จับสัตว์น้ำแบบไม่เลือกประเภทและขนาด ไม่มีช่องทางให้สัตว์น้ำวัยอ่อนได้มีโอกาสหลุดรอด และเจริญเติบโต และยังทำลายระบบนิเวศทางทะเลอย่างมหาศาล   รัฐบาลไทยต้องแก้ไขปัญหาเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง รวมถึงการที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องใช้อำนาจรัฐมนตรี ประกาศตาม มาตรา 57 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์นํ้าหรือนำสัตว์นํ้าที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง ประกอบมาตรา 71 เกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขการทำประมง ในพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 เพื่อกำหนดชนิดของสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนถูกจับขึ้นเรือมากเกินไป ขณะนี้ แม้ชาวประมงพื้นบ้านได้ยื่นหนังสือและเรียกร้องไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลายครั้ง แต่คำขอของชาวประมงพื้นบ้านยังถูกเพิกเฉย
2. ขอให้รัฐบาลเลิกการจำกัดสิทธิของประมงพื้นบ้านโดยอนุญาตให้ทำประมงนอก 3 ไมล์ทะเล ที่ผ่านมา มีการจำกัดสิทธิชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีจำนวนมากให้มีพื้นที่ทำกินห่างจากฝั่งเพียง 3 ไมล์ ในขณะที่ทะเลมีระยะห่างฝั่ง 200 ไมล์ทะเล ซึ่งถือเป็นการจำกัดสิทธิทำกินของชาวประมงพื้นบ้านอย่างไม่เป็นธรรม
3. นิยามประมงพื้นบ้านที่อยู่บนฐานของสิทธิชุมชนที่ถูกรับรองจากกฎหมาย
การให้นิยามตามมาตรา 5 ของพรกประมงปีพ.ศ. 2558 ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประมงพื้นบ้านในปัจจุบัน ซึ่งนิยามว่าคือการทำประมงในเขตประมงชายฝั่ง ทั้งนี้ไม่ใช่ประมงพาณิชย์   
ภาคีเครือข่ายฯ เห็นว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนคำนิยาม โดยมีกระบวนการที่มีส่วนร่วมอย่างมีความหมายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง


นอกจากนี้ประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดข้อมูลที่ครอบคลุม ครบถ้วน และถูกต้อง เพื่อการวางแผนบริหารจัดการการประมง ทั้งในด้านสถิติเรือประมง การจำแนกชาวประมงพื้นบ้าน และปริมาณประชากรสัตว์น้ำในท้องทะเลไทย  สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งผลให้การจัดการการประมงของไทยยังขาดประสิทธิภาพ และไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน


ข้อเสนอแนะต่อวงหารือ Seafood Task Force


1.สมาชิกวงหารือ Seafood Task Force ต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินการของสมาชิกที่ส่งผลต่อการทำลายความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของสังคมไทย และต้องผลักดันรัฐบาลไทยให้บริหารจัดการทะเลโดยคำนึงถึงสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งจะเป็นรากฐานของการฟื้นฟูทะเลไทยอย่างยั่งยืน วงหารือ Seafood Task Force ในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบการบริหารจัดการไม่จับสัตว์น้ำวัยอ่อน และไม่สนับสนุนธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ปลาป่น by catch
2.ขอให้วงหารือ Seafood Task Force เปิดเผยข้อมูลการทำงานอย่างโปร่งใส


ที่ผ่านมาวงหารือ Seafood Task Force มีการเปิดเผยข้อมูลการทำงานบางส่วนผ่านรายงานความก้าวหน้าที่เผยแพร่บนเว็ปไซด์ หากแต่ขาดการอธิบายว่าทำอะไร ไปถึงไหน กระบวนการการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างไร  ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมฯขอเรียกร้องให้วงหารือ Seafood Task Forceเปิดเผยข้อมูลการทำงานอย่างโปร่งใส และมีกระบวนการที่มีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของภาคประชาสังคมเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ความคิดเห็น