กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดงานมหกรรมโรงเรียนครอบครัว “พลังครอบครัว พลังสังคม” ณ จังหวัดสงขลา

 วันที่ 25 มิ.ย. 61 เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคใต้ จังหวัดสงขลา นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิด “ศูนย์เรียนรู้ด้านครอบครัว (โรงเรียนครอบครัว)” ภายใต้งานมหกรรมโรงเรียนครอบครัว “พลังครอบครัว พลังสังคม” กล่าวรายงานโดย นางวรียา สนิทวาที ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคใต้ จังหวัดสงขลา โดยได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหารกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ตลอดจนผู้บริหารในพื้นที่จังหวัดสงขลา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าชะมวง ผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา สมาคมสตรีมุสลิม จังหวัดสงขลา และหัวหน้าหน่วยงานทีม One Home พม. จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ตำบลเขาพระ ตำบลควนรู ตำบลบางเหรียง ตำบลนาทวีนอก ตำบลทับช้าง เข้าร่วมพิธีเปิดงานดังกล่าว นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการมอบเกียรติบัตรแก่ครอบครัวตัวอย่างที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ตำบลละ 1 ครอบครัว เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและเป็นพลังสำคัญในการช่วยเหลือชุมชนและสังคมต่อไป
    นายเลิศปัญญา กล่าวว่า เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้ดำเนินการโครงการโรงเรียนครอบครัว ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) จังหวัดละ 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 36 แห่ง ใน 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน เลย กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี สระบุรี ตรัง และพัทลุง ดำเนินการ โดย ทีมวิทยากรด้านครอบครัวระดับจังหวัด 12 จังหวัด กลุ่มเป้าหมายของโรงเรียนครอบครัวประกอบด้วย ครอบครัวที่เตรียมจะสมรส หรือสมรสใหม่ ครอบครัวที่มีสมาชิกตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตรใหม่  ครอบครัวทั่วไป หรือครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่น และครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ โดยนำหลักสูตร การสื่อสารที่ดีในครอบครัว การใช้เวลาร่วมกันของครอบครัว บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว การเสริมสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมาใช้ในการให้ความรู้ในโรงเรียนครอบครัว
    นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า ผลการดำเนินงานนำร่องในปีแรก ได้รับความร่วมมือด้วยดี ผู้บริหารในระดับจังหวัดเห็นความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชนในพื้นที่ โดยมีพื้นที่ที่สมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมจาก 36 พื้นที่ เป็น 43 พื้นที่ มีจำนวนครอบครัวเข้าร่วม 4,066 ครอบครัว โดยเป็นครอบครัวที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด รองลงมา คือ ครอบครัวทั่วไป/มีลูกวัยรุ่น ครอบครัวหญิงตั้งครรภ์/หลังคลอด และครอบครัวเตรียมพร้อมก่อนสมรส ตามลำดับ และสำหรับปีนี้ สค. ได้ต่อยอดและขยายผลการส่งเสริมสัมพันธภาพของครอบครัวทุกช่วงวัยในพื้นที่ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน 76 จังหวัด โดยการหนุนเสริมของทีมวิทยากรด้านครอบครัวระดับจังหวัด 22 จังหวัด ได้แก่ 12 จังหวัดข้างต้น และอีก 10 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี แม่ฮ่องสอน แพร่ นครสวรรค์ นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ และสตูล พร้อมทั้งขยายผลการส่งเสริมสัมพันธภาพของครอบครัวทุกช่วงวัย โดยนำร่องดำเนินการในพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคใต้ จังหวัดสงขลาแห่งนี้เป็นหน่วยงานแรก และจะดำเนินการให้ครบทั้ง 8 ศูนย์ ในอีก 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำพูน ลำปาง ขอนแก่น ศรีสะเกษ นนทบุรี และชลบุรี
    “การดำเนินโครงการโรงเรียนครอบครัว นอกจากจะทำให้ครอบครัวมีศักยภาพ และสัมพันธภาพที่ดีแล้ว ยังทำให้พื้นที่มีข้อมูลของครอบครัวเฉพาะ 4 กลุ่มเป้าหมาย และชุมชนเกิดการมีส่วนร่วม มีการรวมกลุ่มครอบครัวแต่ละประเภทซึ่งอาจพัฒนาเป็นกลุ่มช่วยเหลือกัน (Support Group) ได้อีกด้วย ศูนย์เรียนรู้ด้านครอบครัว (โรงเรียนครอบครัว) แห่งนี้ก็เช่นกัน ที่สามารถเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ความรู้ และแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ในทุกมิติของการสร้างครอบครัวเข้มแข็ง ให้แก่ผู้รับบริการ เครือข่าย และคนทุกเพศทุกวัย อย่างต่อเนื่อง  เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของการส่งผ่านความรู้ให้แก่ประชาชนในแต่ละครอบครัวอันเป็นพลังสำคัญของการพัฒนาประเทศให้มั่นคงต่อไป” นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย

ความคิดเห็น