สสส. จับมือ พม. สภาเด็กและเยาวชนฯ และภาคีเครือข่าย เร่งสร้างภูมิคุ้มกันเด็กไทยรู้ทันภัยพนัน

ก่อนเริ่มต้นเทศกาลบอลโลก 2018 ผ่านไอเดียหนังสั้นฝีมือเยาวชน หลังตัวเลข ปี 61 พบเด็กม.ต้น ร้อยละ 91.8 รู้จักเล่นพนันจากคนใกล้ตัว  ช็อกซ้ำ ร้อยละ 51.8 เคยเล่นพนันแบบใช้เงินเดิมพัน มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ พนันออนไลน์ พนันบอลกินเงิน และพนันกีฬาอื่นๆ สสส. เชื่อมั่น เด็กและเยาวชนมีศักยภาพแก้ไขปัญหาสังคมได้

วันที่ 10 มิถุนายน 2561 ที่ SF World Cinema โรง 5 ชั้น 9 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดงานแถลงข่าว “เปิดตัวสื่อรณรงค์ประเด็นการพนันในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018” โดยมี นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานมอบโล่ให้กับเยาวชนผู้ผลิตภาพยนตร์สั้น ภายใต้โครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม พร้อมรับชมภาพยนต์สั้นทั้ง 5 เรื่องที่ได้รับรางวัล

นายปรเมธี กล่าวว่า การแข่งขันฟุตบอลโลก (World Cup 2018) ที่ประเทศรัสเซีย ได้กำหนดขึ้น    ในระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม 2561  คาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่การพนันฟุตบอลออนไลน์ จะเข้ามามีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทยมากที่สุด เนื่องจากเด็กและเยาวชนในปัจจุบันสามารถเข้าถึงสื่อโซเซียลมีเดียได้ตลอดเวลาผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากการสำรวจของ สสส. พบว่า การพนันออนไลน์ที่เด็กและวัยรุ่นนิยมเล่นสูงสุดคือ การทายผลฟุตบอลออนไลน์  ในรอบ 1 ปี ระหว่าง ปี 25582559 มีเว็บไซต์เล่นพนันออนไลน์มากถึง 213,000 เว็บไซต์  ดังนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหาดังกล่าว ที่มีผลต่ออนาคตของชาติ จึงร่วมมือกับ สสส.ภายใต้โครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน SF World Cinema และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จัดทำโครงการผลิตสื่อรณรงค์ประเด็นการพนันในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ขึ้น

นายปรเมธี กล่าวต่อว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เด็กและเยาวชนเกิดความตระหนัก รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก โดยมีสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ในฐานะกลไกของเด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมในการแสดงความรู้ความสามารถเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการจัดโครงการผลิตสื่อรณรงค์ประเด็นการพนันในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 (ในรูปแบบภาพยนตร์สั้น 8 นาที) สำหรับผลงานในโครงการผลิตสื่อรณรงค์ที่ได้รับรางวัล จะได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะ อาทิ Facebook Line สื่อวิทยุโทรทัศน์ และช่องทางสื่อต่างๆ ของภาคีเครือข่าย
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ปี 2560 โดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบว่า คนไทยร้อยละ 75.2 หรือเกือบ 40 ล้านคน เคยเล่นพนัน มีจำนวนผู้เล่นพนันฟุตบอลในประเทศไทยสูงถึงราว 2.5 ล้านคน มีเยาวชนอายุ 15-25 ปี กว่า 6 แสนคน   นอกจากนี้ ผลการสำรวจนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1 ถึง ม.3 ปี 2561 ยังพบว่า เด็กร้อยละ 91.8 รู้จักเล่นพนัน จากคนในครอบครัว คนในชุมชน และญาติ ในจำนวนนี้มากกว่า 1 ใน 4 บอกว่ารู้สึกอยากเล่นพนันเมื่อเห็นผู้ใหญ่เล่น ส่วนในโลกโซเชียล เด็กร้อยละ 72.1 เคยพบเห็นโฆษณาเชิญชวนให้เล่นพนัน ในจำนวนนี้ร้อยละ 14.6 ตามไปเล่นพนันตามช่องทางที่เชิญชวน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เด็กมากถึงร้อยละ 51.8 เคยเล่นการพนันโดยใช้เงินเดิมพัน โดยการพนันที่ใช้เงินเดิมพันมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ พนันออนไลน์ พนันบอลกินเงิน และพนันกีฬาอื่นๆ  

“สสส. ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา จึงร่วมมือกับ พม. และภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เพื่อให้เยาวชนรู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสื่อสารประเด็นการรู้เท่าทันผลกระทบจากการเล่นพนัน สร้างภูมิคุ้มกันและสภาพแวดล้อมปกป้องเด็กและเยาวชน ซึ่งในครั้งนี้ได้ใช้วิธีสะท้อนแนวคิดของเด็กและเยาวชนผ่านภาพยนตร์สั้น เกี่ยวกับผลกระทบจากการเล่นพนันออนไลน์ เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้แสดงศักยภาพในการแก้ไขปัญหาสังคม ตลอดจนมีบทบาทในการขับเคลื่อนรณรงค์ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
สำหรับภาพยนตร์สั้น 5 เรื่องที่ได้รับรางวัลในโครงการ สื่อสารสาธารณะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ประกอบไปด้วยผลงานเรื่อง “เสี่ยง”  จากทีม Nitedkaset film สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ผลงานเรื่อง จุดจบเดียวกัน In The End”  จากทีม ฤดูสน โรงเรียนขุมยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน ผลงานเรื่อง คู่ตรงข้าม จากทีม BUCA คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ”  ผลงานเรื่อง “SBALL BET” จากทีม สมาพันธ์เด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ และ ผลงานเรื่อง “Cycphuket” จากทีม สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต

ความคิดเห็น