โรงพยาบาลนครปฐม ต้นแบบรณรงค์ให้ลูกดื่มนมแม่และให้ความรู้ประโยชน์ของการ"ดื่มนมแม่"

   การโอบกอดทารกทันทีจากมารดาในระยะหลังคลอด (Early bonding) เป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว โดยวางทารกแรกเกิดที่ได้รับการเช็ดตัวให้แห้งบนหน้าอกของมารดา เพื่อให้มีการสัมผัสกันโดยเร็วระหว่างมารดาและทารก อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือให้มารดาสามารถเริ่มต้นเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาในระยะแรก และเป็นตัวทำนายที่สำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาในระยะต่อมา (Awi, & Alikor, 2006) จากการศึกษาของเบียนคัซโซ (Biancuzzo, 2003) พบว่ามารดาและทารกที่ได้รับการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อจะส่งผลต่อการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2-3 เดือน และนานถึง 8 เดือน จากการศึกษาของคาร์ฟุต วิลเลียมสัน และดิคสัน (Carfoot, Williamson, & Dickson, 2004) ที่ศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการดูแลให้มารดาและทารกได้รับการสัมผัสกันแบบเนื้อแนบเนื้อเป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมงหลังคลอด กับการดูแลตามปกติที่แยกมารดาและทารกเพื่อชั่งน้าหนัก ห่อผ้า วัดสัดส่วนทารก ต่อความสำเร็จในการดูดนมมารดาครั้งแรกและอุณหภูมิกายของทารก ผลการศึกษาพบว่าทารกที่ได้รับการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อมีความสำเร็จในการดูดนมมารดาครั้งแรกร้อยละ 91 ส่วนทารกที่ได้รับการดูแลตามปกติมีความสำเร็จในการดูดนมมารดาครั้งแรกร้อยละ 83 สอดคล้องกับการศึกษาของมิซูโน และคณะ (Mizuno, et al., 2004) ที่พบว่าการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อระหว่างมารดาและทารกนานมากกว่า 50 นาที ทำให้ทารกเรียนรู้กลิ่นน้ำนมของมารดา ส่งผลให้ระยะเวลาการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดานานมากขึ้น นอกจากนี้การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อยังส่งเสริมสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมารดาที่มีต่อบุตรคือการมองและการสัมผัสทารก และทารกจะมองหน้ามารดา พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงความผูกพัน (UNICEF, 2007)
​  ในปัจจุบันมีการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลที่ถือปฏิบัติเป็นประจำหลังทารกเกิด เช่น การเช็ดตัวหรืออาบน้ำ การวัดอุณหภูมิกายแรกคลอด การป้ายตาด้วยยาปฏิชีวนะ และการให้วิตามิน เค แก่ทารกแรกเกิด ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้ต้องแยกมารดาและทารกออกจากกันชั่วคราว (ภัสรา หากุหลาบ และนันทนา ธนาวรรณ, 2552) ซึ่งจะมีผลทางลบต่อการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาในระยะต่อมา อีกทั้งการปฏิบัติกิจกรรมดังกล่าวไม่สอดคล้องกับบันได 10 ขั้น สู่ความสำเร็จในการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาขององค์การอนามัยโลกและองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะบันไดขั้นที่ 4 คือ ช่วยมารดาเริ่มให้ทารกดูดนมภายในครึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด
 ​โรงพยาบาลนครปฐมได้ส่งเสริมการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาโดยปฏิบัติตามบันได 10 ขั้นในการส่งเสริมการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา ซึ่งเป็นนโยบายขององค์การอนามัยโลก และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยทางโรงพยาบาลได้มีการติดตามประเมินตัวชี้วัดของหน่วย งานจากการประเมินความสำเร็จในการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาอย่างเดียวที่ 24 ชั่วโมงก่อนจำหน่าย ดังนั้นเพื่อตอบสนองนโยบายหน่วยคลอดจึงได้ปฏิบัติตามบันไดขั้นที่ 4 ให้มารดาโอบกอดทารกหลังคลอดทันที โดยวางทารกบนอกของมารดาหลังจากปฏิบัติกิจกรรมพยาบาลทารกแรกเกิดเรียบร้อยแล้วหรือภายใน 30 นาทีหลังคลอด จากการทบทวนการปฏิบัติงานที่ผ่านมา พบว่าการส่งเสริมการเริ่มต้นเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาระยะแรกในหน่วยคลอด หรือการปฏิบัติตามบันไดขั้นที่ 4 มีการปฏิบัติที่หลากหลาย และระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่พยาบาลส่งเสริมให้มารดาและทารกได้สัมผัสกันแบบเนื้อแนบเนื้อในระยะเวลาสั้น อาจทำให้มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นการสร้างและการหลั่งน้ำนมได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการดูแลทารกแรกเกิดที่ยังถือปฏิบัติกันเป็นประจำได้แก่ การชั่งน้ำหนัก การป้ายตาด้วยยาปฏิชีวนะ การฉีดวิตามิน เค และการช่วยเหลือจัดการให้ทารกอมหัวนมมารดา อาจจะมีผลไปรบกวนกลไกตามธรรมชาติในการดูดนมของทารก
​  หน่วยงานห้องคลอดจึงได้มีการปรับกิจกรรมการพยาบาลทารกแรกเกิด เช่น การเช็ดตัวทารก และการฉีดยาไว้หลังการนำทารกมาวางบนอกของมารดา ทำให้ทารกได้รับการโอบกอดจากมารดาทันทีภายใน 10 นาทีแรกหลังคลอด และสามารถวางได้นานจนกว่ามารดาได้รับการเย็บซ่อมแซมแผลฝีเย็บเสร็จเรียบร้อยหรือประมาณ 30-40 นาที และใช้ผ้าสำลีอุ่นคลุมไปที่ทารก ซึ่งพบว่าการนำทารกมาวางบนอกของมารดาในขณะที่มารดาได้รับการเย็บซ่อมแซมนั้นมีโอกาสที่ทารกจะพลัดตกจากเตียง การโอบกอดที่แน่นเกินไปของมารดาทำให้ทารกไม่สามารถคืบคลานไปยังเต้านมของมารดาได้ และทารกแรกเกิดมีภาวะอุณหภูมิกายต่ำ ดังนั้นผู้ศึกษาจึงได้คิดค้นอุปกรณ์เพื่อช่วยให้ทารกแรกเกิดได้รับการโอบกอดทันทีจากมารดาในระยะหลังคลอดอย่างปลอดภัย อีกทั้งไม่ขัดขวางการคืบคลานของทารกไปยังเต้านมมารดา

วันที่เริ่มต้นโครงการ : ​​1  กุมภาพันธ์ 2554
5. วัตถุประสงค์
5.1 เพื่อช่วยให้มารดามีการโอบกอดทารกในระยะหลังคลอดทันที
5.2 เพื่อป้องกันทารกจะพลัดตกจากเตียง ในขณะที่ได้รับการโอบกอดทันทีจากมารดา
5.3 เพื่อป้องกันทารกแรกเกิดมีภาวะอุณหภูมิกายต่ำ ในขณะที่ได้รับการโอบกอดทันทีจาก มารดา
6. การดำเนินงาน
6.1 เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ปัญหาการโอบกอดทารกในระยะหลังคลอดทันที
6.2คิดประดิษฐ์อุปกรณ์ “กระดองเต่าสายใยรัก”
6.3นำเสนอโครงการต่อหัวหน้างาน
6.4นำอุปกรณ์มาใช้ในการปฏิบัติการพยาบาล
6.5ติดตามประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิ์ผลของอุปกรณ์
6.6เผยแพร่นวัตรกรรมโดยสาธิตการใช้อุปกรณ์แก่และบุคลากรในหน่วยงานห้องคลอด
6.7เก็บข้อมูลหลังทดลองใช้เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการใช้และปรับให้มีความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง
7. ตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการและผลลัพธ์
7.1อัตราการโอบกอดทารกจากมารดาในระยะหลังคลอดทันที จนกระทั่งสิ้นสุดการเย็บ     ซ่อมแซมแผลฝีเย็บ
 7.2อัตราการเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำของทารกแรกเกิด หลังได้รับการโอบกอดในระยะหลังคลอดทันที
7.3อัตราการเกิดการพลัดตกจากเตียงของทารก ในขณะที่ได้รับการโอบกอดในระยะหลังคลอดทันที
7.4อัตราความพึงพอใจของมารดาต่อการใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยโอบกอดในระยะหลังคลอดทันที
7.5อัตราความสำเร็จในการดูดนมของทารกในระยะ 2 ชั่วโมงหลังคลอด
8. แผนที่จะดำเนินการต่อไป
นำอุปกรณ์มาทดลองใช้จริงติดตามประเมินผล และปรับปรุงเพื่อให้อุปกรณ์มีความเหมาะสมกับหน่วยงานและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติเป็นกิจวัตรได้จริง
9. กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
9.1เกิดการเรียนรู้ในกระบวนการพัฒนาคุณภาพงานโดยเน้นผู้คลอดเป็นศูนย์กลาง
9.2ได้ฝึกและเรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบโดยคำนึงถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต
9.3ฝึกการทำงานเป็นทีมและสร้างภาวะผู้นำในตนเอง
9.4สร้างเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนามาตรฐานคุณภาพการบริการ

ความคิดเห็น