ฉลอง 20 ปี มาตรฐานฮาลาลไทย ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี งาน “Thailand Halal Assembly 2018” ภายใต้แนวคิด “บูรณาการฮาลาลแม่นยำ ยุคเศรษฐกิจฐานชีวภาพ”

เพื่อยกระดับกิจการฮาลาลไทยสู่ยุคสมัยแห่งการฮาลาลแม่นยำ รวมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 20 ปีของมาตรฐานฮาลาลไทย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย  (สมฮท.) และ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ “THAILAND HALAL ASSEMBLY 2018” ขึ้นเป็นปีที่ 5 ภายใต้แนวคิด “บูรณาการฮาลาลแม่นยำ ยุคเศรษฐกิจฐานชีวภาพ” เพื่อส่งเสริมให้กิจการฮาลาลประเทศไทยพัฒนาสู่ยุคสมัยแห่งการฮาลาลแม่นยำ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานจัดงาน Thailand Halal Assembly 2018 กล่าวว่า ในเวลานี้ งานประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลนานาชาติที่นับว่าดีที่สุดคืองาน “Thailand Halal Assembly” หรือ THA สิ่งนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ในฐานะเจ้าภาพหลักร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) มิได้กล่าวอ้าง แต่เป็นหลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาเพื่อประเทศอิสลาม (Standard and Metrology Institute for Islamic Country) หรือ SMIIC ได้กล่าวไว้ ซึ่งการจัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ “Thailand Halal Assembly 2518” หรือ THA 2018 ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “Precision Halalization in The Bioeconomy Era” หรือ “บูรณาการฮาลาลแม่นยำในยุคเศรษฐกิจชีวภาพ” คำว่า การฮาลาลแม่นยำ หรือ Precision Halalization เป็นการสื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบว่ากิจการฮาลาลประเทศไทยกำลังพัฒนาสู่ยุคสมัยแห่งการฮาลาลแม่นยำ เช่นเดียวกับยุคการแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) และการเพาะปลูกแม่นยำ (Precision farming) ที่ได้รับการกล่าวขานกันก่อนหน้านี้
 การบูรณาการฮาลาลแม่นยำ เป็นความพยายามของประเทศไทยในการผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อการรับรองฮาลาล ไม่ว่าจะการตรวจทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลโดยนำระบบ H-number ที่พัฒนาขึ้นใหม่เข้ามาใช้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกวัตถุดิบฮาลาลอได้อย่างถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องตรวจการปนเปื้อนในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อีกต่อไป และเลือกใช้ห้องปฏิบัติการเฉพาะที่จำเป็น ในระบบการมาตรฐานฮาลาลมีการพัฒนาระบบ HAL-Q Plus เพื่อให้การดำเนินงานการมาตรฐานฮาลาลเป็นไปอย่างจำเพาะโดยใช้เวลาสั้น และเลือกทำเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนหะรอมเท่านั้น
 นอกจากระบบห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลและระบบการมาตรฐานฮาลาลที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นการใหญ่แล้วนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันก็คือ “มาตรฐานและมาตรวิทยา” ซึ่งทาง SMIIC ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย (สมฮท.) ซึ่งจะเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 20 ปีของมาตรฐานฮาลาลประเทศไทยในงาน THA 2018 ครั้งนี้ จะร่วมกับ ศวฮ.เพื่อพัฒนามาตรฐานฮาลาลใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยอย่างน้อย 5 - 6 มาตรฐาน เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานฮาลาลในทุกๆ ด้าน เพราะการใช้มาตรฐานฮาลาลที่ถูกต้องมีส่วนสำคัญในการพัฒนางานบูรณาการฮาลาลแม่นยำนั้นเอง
โดยภายในงาน THA 2018 ประกอบด้วยงานประชุมวิชาการนานาชาติ ด้านวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และธุรกิจฮาลาล (HASIB) ครั้งที่ 11, การประชุมองค์กรรับรองฮาลาลนานาชาติ ครั้งที่ 5, นิทรรศการเฉลิมฉลอง 20 ปี มาตรฐานฮาลาลไทย, การจับคู่เจรจาทางธุรกิจฮาลาล, การเสวนาในหัวข้อต่างๆ และงาน Thailand International Halal Expo 2018 หรือ THIHEX 2018 เป็นงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลทั้งไทยและต่างประเทศมากกว่า 350 บูท หลากหลายประเภทสินค้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอีกครั้งที่ ศวฮ.ตั้งใจจะยกระดับงาน HASIB โดยยกขึ้นสู่ระดับงาน International Halal Science and Technology Conference เรียกสั้นๆ ว่า IHSATEC 2018 เป็นการประกาศความเป็นหนึ่งทางด้านการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลนานาชาติให้สมกับที่ทุกฝ่ายคาดหวัง เมื่อจะต้องพัฒนาจำเป็นต้องพัฒนากันไปไม่มีวันสิ้นสุด ทั้ง ศวฮ.ทั้ง สกอท.และ สมฮท.มุ่งมั่นกันไว้อย่างนั้น รศ.ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย

ความคิดเห็น