พช.ยกทัพนำสื่อเยือนอารยธรรมอีสานใต้ นครราชสีมา-บุรีรัมย์-ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี ดินแดนหลากวัฒนธรรม-เลิศล้ำโบราณคดี

ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน  กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว  (OTOP Village ) 8 เส้นทาง ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง โดยใช้วัฒนธรรมประเพณีตลอดจนทรัพยากรของท้องถิ่น คงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ภายใต้การบูรณาการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถส่ง เสริมให้ชุมชนเกิดการตื่นตัวและเกิดการรวมพลังในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาทรัพยากรของชุมชนให้เกิดมูลค่า และสร้างรายได้แก่ชุมชนรวม 31 จังหวัด 125 หมู่บ้าน
 เมื่อวันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2561  อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้นายไพบูลย์ บูรณสันติ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นำสื่อเข้าร่วมในกิจกรรมสื่อมวลชนเยี่ยมชมหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (Press Tour) ในเส้นทางที่ 3  :อารยธรรมอีสานใต้ นครราชสีมา - บุรีรัมย์ – ศรีสะเกษ - อุบลราชธานี


 เริ่มต้นที่จ.นครราชสีมา เยี่ยมชมหมู่บ้านด่านชัย ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย  ทำกิจกรรมปั้นเครื่องปั้นดินเผา พร้อมชมเตาเผาเอกลักษณ์ท้องถิ่น ,สักการะวัดด่านเกวียน(รูปหล่อดินเผา)ชมโอ่ง 4 เมตรและชมวิวสะพานข้ามแม่น้ำมูล ไปต่อยังหมู่บ้านธารปราสาทและหมู่บ้านปราสาทใต้ ต.ธารประสาท ชมสาธิตการทำผลิตภัณฑ์การทักทอจากต้นกก ชมพิพิธภัณฑ์บ้านปราสาท และหลุมที่ขุดค้นพบซากกระดูกคนโบราณ อ.โนนสูง
หมู่บ้านด่านชัย เป็นหมู่บ้านในตำบลด่านเกวียนมีชื่อเสียงด้านเครื่องปั้นดินเผา ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกี่ยวข้องกับงานประเภทเครื่องปั้นดินเผาทั้งสิ้น เช่น ขายดินสำหรับผลิตเครื่องปั้นดินเผา รับเผาเครื่องปั้น รับนวดดิน ไปจนถึงรับผลิตเครื่องปั้นดินเผา ที่มีทั้งงานประเภทขึ้นรูปด้วยมือ และงานออกแบบตามที่ลูกค้าต้องการ ถือเป็นแหล่งชุมชนที่ขับเคลื่อนเรื่องของเครื่องปั้นดินเผาในตำบลด่านเกวียน ให้มีความต่อเนื่องและมีคุณภาพ รวมถึงรักษาเอกลักษณ์ของบ้านด่านเกวียนไว้อย่างดี มีชื่อเสียงไปไกลถึงต่างแดน มีลักษณะเด่นคือ ดินสีแดง ทนทาน ไม่แตกหักง่าย ทำให้เครื่องปั้นดินเผา ได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ต้นแบบ  ทำให้นักท่องเที่ยวอยากมาเยี่ยมชม และซื้อหาเป็นของที่ระลึก อีกทั้งยังมีความพร้อมด้านที่พัก ร้านอาหารตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วย
​เมื่ออัตลักษณ์คือเครื่องปั้นดินเผาสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือศูนย์รวมจิตใจของชุมชนนั่นคือ"วัดด่านเกวียน"ซึ่งมีบาตรน้ำมนต์ดินเผาโบราณใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ภายในโบสถ์ บรรจุน้ำมนต์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ด้วยพุทธคุณ แห่งคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และทวยเทพเทวาทั้งหลาย เมื่อมากราบขอพรองค์พระ อย่าลืมรับการพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นศิริมงคล
 แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา มีอายุราว 3,000 ปี จากการที่มีการจับกุมนักค้าของเก่าที่ขุดของจากที่นี่ไปขาย ทำให้กรมศิลปากรส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาในปี 2526 พบว่าเป็นแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 1 ชั้น มีลำธารปราสาทไหลผ่านด้านเหนือ มีมนุษย์มาตั้งชุมชนครั้งแรกราว 3,000 ปีมาแล้ว รู้จักการเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ มีการใช้สำริดบ้างแต่ไม่แพร่หลาย ทำภาชนะดินเผาทรงปากแตรสีแดงขัดมันและมีการนำภาชนะดังกล่าวฝังร่วมกับศพด้วย

บ้านปราสาทนับเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง ที่ได้จัดทำในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จากหลักฐานที่ค้นพบสันนิษฐานว่า มีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ช่วงระหว่าง 1,500-3,000 ปีมาแล้ว หลุมขุดค้นที่ตกแต่งและเปิดให้ชมทั้งหมด 3 แห่ง คือ หลุมขุดค้นที่ 1 มีโครงกระดูกฝังอยู่ในชั้นดินแต่ละสมัย แต่ละยุคมีลักษณะการฝังที่ต่างกันไป ยุค 3,000 ปี อยู่ในชั้นดินระดับล่างสุดลึก 5.5 เมตร โครงกระดูกจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยุค 2,500 ปี หันหัวไปทางทิศตะวันออก ยุค 2,000 ปีหันหัวไปทางทิศใต้ แต่คติในการฝังจะคล้ายกันคือจะนำเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด เครื่องประดับศีรษะทำด้วยสำริดและภาชนะของผู้ตายฝังร่วมไปด้วยกับผู้ตาย ในช่วงสามระยะแรกนี้เป็นภาชนะดินเผา เคลือบน้ำดินสีแดง แบบลายเชือกทาบ ลักษณะหลักของภาชนะเป็นแบบคอแคบปากบาน แต่บางใบมีทรงสูงเหมือนคนโท บางชิ้นมีลักษณะเป็นทรงกลมสั้น ต่อมาในยุค 1,500 ปี นั้นลักษณะภาชนะจะเปลี่ยนเป็นแบบพิมายดำ คือ มีสีดำ ผิวขัดมัน เนื้อหยาบบาง
​หลุมขุดค้นที่ 2 ในดินชั้นบนพบร่องรอยของศาสนสถานในพุทธศตวรรษที่ 13-16 เรียกกันว่า "กู่ธารปราสาท" และพบเศียรพระพุทธรูปในสมัยเดียวกัน ศิลปะทวารวดีแบบท้องถิ่น นอกจากนี้ยังพบรูปปั้นดินเผาผู้หญิงครึ่งตัวเอามือกุมท้องลักษณะคล้ายตั้งครรภ์ และชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับปราสาท
​หลุมขุดค้นที่ 3 พบโครงกระดูกในชั้นดินที่ 5.5 เมตร เป็นผู้หญิงทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่ากระดูกทุกโครงในหลุมนี้ไม่มีศีรษะ และภาชนะนั้นถูกทุบให้แตกก่อนที่จะนำลงไปฝังด้วยกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตและนำศีรษะไปแห่ประจาน และได้พบส่วนกะโหลกอยู่รวมกันในอีกที่หนึ่ง ซึ่งห่างจากจุดเดิมเพียง 500 เมตร ชาวบ้านปราสาทจะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลในวันที่ 21 เมษายน ของทุกปี

​กิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสได้แก่ การทำขนมตามฤดูกาล เช่นขนมตาล  ขนมสายบัว  ขนมหน้าแฟง  การทอเสื่อกก  การทำพวงกุญแจ  การทำเครื่องดนตรีไทย  ส่วนใครที่อยากนั่งรถอีแต๋น  สามารถเช่าและให้พาเที่ยวรอบหมู่บ้าน  ช่วงฤดูกาลทำนาซึ่งที่นี่ทำนาปีละครั้ง  สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับชาวบ้านได้ และซื้อสินค้าที่สร้างสรรค์ด้วยความปราณีตจากกก นำมาประยุกต์เป็นของใช้ต่างๆอย่างหลากหลาย ทั้งกระเป๋า หมวก เสื่อ ที่รองจาน แฟ้มใส่เอกสาร และยังสามารถทอให้เป็นตัวอักษรหรือลวดลายได้ตามต้องการได้ด้วย
​ทั้งนี้การที่คนในชุมชนบ้านธารปราสาทประสบความสำเร็จในการจัดการท่องเที่ยว  พบว่าเกิดมาจากองค์กรหรือแต่ละภาคส่วนทำงานกันอย่างลงตัว  แม้ความรับผิดชอบจะแตกต่างกันไป  แต่ก็เอื้อให้กันอย่างพอดี  กรมการพัฒนาชุมชนสนุบสนุนงบประมาณให้เป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว กรมศิลปากรมีการขุดค้นทางโบราณคดี  สร้างตัวอาคารคลุมหลุมขุดค้นที่ 1-3  มีการจัดสร้างและดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านปราสาทเล่าประวัติของหมู่บ้าน  ทางอบต.บ้านธารประสาทได้ให้งบประมาณในการซ่อมแซมถนนเข้าหมู่บ้าน  โรงเรียนบ้านธารปราสาทได้จัดยุวอาสามัคคุเทศก์ที่ได้รับการอบรมจากกรมศิลปากร  มาประจำอยู่ที่หลุมขุดค้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์  คณะกรรมการหมู่บ้านและกลุ่มแม่บ้าน  ดูแลจัดการในเรื่องโฮมสเตย์และการต้อนรับนักท่องเที่ยวและยินดีต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความเต็มใจ
​วันที่ 13 -14 พฤศจิกายน 2561ที่จ.บุรีรัมย์  เยี่ยมชมหมู่บ้านหมู่บ้านโคกเมือง บ.โคกเมือง ต.จรเข้มาก อ. ประโคนชัย ชมปราสาทหินเมืองต่ำ ร่วมกิจกรรมที่ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย การทอเสื้อกก การทอผ้าไหม การทำผ้าย้อมโคลน 100 ปีและชมสัมมาชีพภูเขาไฟ  ไปต่อยัง หมู่บ้านเจริญสุข  อ.เฉลิมพระเกียรติ  ซึ่งได้เป็นรับเลือกให้เป็น “หมู่บ้าน OVC” (OTOP Village Champion) จาก กรมการพัฒนาชุมชน ,ท่องเที่ยวเขาพระอังคาร ,โบสถ์วัฒนธรรมเดิมชมการทอผ้าภูอัคนี และช้อปที่ตลาดสินค้าจากการสนับสนุนของกรมพัฒนาชุมชน และไปที่หมู่บ้านไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ ศรีสะเกษ ชมการสาธิตการทอผ้าไหม และช้อปสินค้าหมู่บ้าน ,นั่งรถซาฟารีไปวัดไพรพัฒนาสักการะมณฑปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ,ไปจุดชมวิวพญากรูปรี เยี่ยมชมหมู่บ้านสมพรรัตน์ อ.บุญฑริก จ.อุบลราชธานี
​หมู่บ้านโคกเมือง อยู่ติดกับปราสาทเมืองต่ำ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของบุรีรัมย์ ได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ปี2555-2557 วิถีชีวิตชาวบ้าน มีกลุ่มอาชีพหลากหลาย เช่น กลุ่มทอเสื่อกก กลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มถักไหมพรม  เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 80 ของหมู่บ้าน OVC ( Otop Village Champion) ในปี 2549 ประเภทหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นที่ตั้งของปราสาทเมืองต่ำและมีการพัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่นให้เป็นสินค้าของฝากระดับประเทศ คือ ผ้าทอ หรือที่เรียกว่า ผ้าไหมลายผักกูดหัตถกรรมชั้นดี ที่ชาวบ้านนิยมทำกันมาตั้งแต่โบราณจากรุ่น สู่รุ่น นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เสื่อกกยกลายปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งมีที่เดียวในประเทศไทย

หมู่บ้านเจริญสุข ได้รับเลือกให้เป็น “หมู่บ้าน OVC” (OTOP Village Champion) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เช่นกัน ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านสามารถสรรค์สร้างสิ่งที่สวยงามได้อย่างมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ “ผ้าภูอัคนี” หรือผ้าย้อมดินภูเขาไฟ วัตถุดิบจากธรรมชาติ ที่หาได้ในท้องถิ่น มาประยุกต์ เป็นกรรมวิธีในการย้อมสีผ้าให้ออกมามีสีสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์ เพราะหมู่บ้านเจริญสุขตั้งอยู่ใกล้กับ “เขาพระอังคาร” ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าแก่ที่ดับ แล้ว 1 ใน 6 ลูกของจังหวัดบุรีรัมย์ ดินบริเวณนี้จึงอุดม ด้วยแร่ธาตุจากลาวาภูเขาไฟที่ปะทุออกมาในอดีต
ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์ ในการเพาะปลูกแล้ว ชาวบ้านเจริญสุขยังคิดค้นวิธีการนำดินเหล่านี้มาใช้ย้อมผ้าฝ้ายสีขาวเปลี่ยนเป็นสีดินน้ำตาลอ่อนกับน้ำตาลแดง แบบดินภูเขาไฟ กำเนิดเป็น "ผ้าภูอัคนี" ยังใช้ภูมิปัญญาที่จะรักษาสีผ้าให้คงทนด้วยการนำผ้าที่ได้จากการย้อมดินภูเขาไฟไปต้มกับ “น้ำเปลือกต้นประดู่” ซึ่งมียางและสีที่คล้ายกับสีดินภูเขาไฟ จึงเป็นการเคลือบสีไปในในตัว ผ้าที่ได้จึงเงางามยิ่งขึ้นและไม่ตกสีอีกด้วย
​สำหรับจุดเด่นของผ้าบุรีรัมย์คือผ้าซิ่นตีนแดงและผ้าหางกระรอก ซึ่งคนบุรีรัมย์มี 4 เผ่า คือไทยเขมร ไทยลาว ไทยโคราช และไทยส่วย ซึ่งแต่ละเผ่ามีผ้าแตกต่างกัน แต่พอมาอยู่บุรีรัมย์ด้วยกันก็เลยเกิดการผสมผสานเป็นผ้าซิ่นตีนแดงหางกระรอก นอกจากนี้ ยังมีผ้าไหมเปลือกนอก ผ้าขาวม้า และผ้าฝ้าย
​ปราสาทเมืองต่ำ ตัวปราสาทและหมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินดินรูปร่างค่อนข้างกลมสูงกว่าระดับพื้นชายเนินปราสาทหินเมืองต่ำเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 ตามคติศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ตั้งอยู่ ณ พื้นราบเบื้องล่างของเขาพนมรุ้งและน่าจะเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์กับ ปราสาทพนมรุ้ง เห็นได้จากปราสาททั้งสองแห่งอยู่ใกล้กัน ลักษณะสถาปัตยกรรมด้านในของปราสาทเมืองต่ำนั้นได้รับการก่อสร้างด้วยฝีมือ ช่างในระดับช่างหลวง ไม่ด้อยกว่าปราสาทพนมรุ้งเลย ชื่อของปราสาทเมืองต่ำเป็นชื่อที่เข้าใจกันว่ามาเรียกกันในภายหลัง คือเปรียบเทียบกับเมืองสูงอย่างพนมรุ้งก็เป็นได้ เพราะคำว่า "เมืองต่ำ" หมายถึงพื้นที่ต่ำ หรือพื้นที่ราบ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลัก คือ ปรางค์อิฐ 5 องค์ สร้างอยู่บนฐานเดียวกันก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบด้วยกำแพงสองชั้น กำแพงชั้นในก่อด้วยหินทรายเป็นห้องแคบๆ ยาวต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียกว่า ระเบียงคด กำแพงชั้นนอกเป็นกำแพงศิลาแลง กำแพงทั้งสองนั้นมีซุ้มประตูก่อด้วยหินทรายอยู่ในแนวตั้งตรงกันทั้ง 4 ด้าน หรือมีอายุการก่อสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 ปี ศาสนสถานแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไปในช่วงหนึ่งเป็นระยะเวลายาวนานโดยเฉพาะหลังจากที่อาณาจักรกัมพูชาเสื่อมถอยลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 18
​ที่จ.ศรีสะเกษ จังหวัดติดชายแดนในภาคอีสานตอนล่าง เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อารยธรรม และศิลปวัฒนธรรมของหลากหลายชนชาติ โดยเฉพาะขอมโบราณ ที่ผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตพื้นบ้านแบบไทยอีสานได้อย่างลงตัวและกลมกลืน มีเอกลักษณ์โดดเด่นและน่าสนใจมีทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ แหล่งน้ำ พืชพรรณ และสัตว์ป่านานาชนิด สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม
เยี่ยมชมหมู่บ้านไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ ชมงานจักสานจากไม้ไผ่ (ตะกร้า) จักสานจากดอกหญ้าแขม (ไม้กวาด)การทอผ้า ชิมอาหารพื้นถิ่นเขมรโบราณ เยี่ยมชมหมู่บ้านละทาย  อ.กันทรารมย์  ชมการสาธิตการอบสมุนไพรพลังงานแสงอาทิตย์ ขมและชมขนมที่เรือนไทย ชมสาธิตการทอผ้า และชมสวนทอฝัน (โรงเพาะเห็ด)
​ชมวัดไพรพัฒนา (หลวงปู่สรวง)  เดิมเป็นที่พำนักของหลวงปู่สรวงนักบุญแห่งดินแดนอีสานใต้ พระผู้บำเพ็ญเพียรตามแนวเขตชายแดนไทย-กัมพูชา มีเมตตาบารมีช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จนเป็นที่รักและศรัทธาของผู้คน จนเป็นที่เรียกขานกันว่า “เทวดา เดินดิน” ภายหลังจากที่หลวงปู่ละสังขารเมื่อปี 2542 สรีระสังขารของหลวงปู่ไม่เปื่อยไม่เน่า จนลูกศิษย์ได้นำไปบรรจุไว้ในโลงแก้ววางบนมณฑปปราสาทเพื่อให้ผู้คนทั่วไปตลอดจนนักท่องเที่ยวได้มากราบไหว้ขอพรและลอดใต้โลงแก้วเพื่อความเป็นสิริมงคล
วัดไพรพัฒนา เป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของการท่องเที่ยว ระหว่างสองประเทศ คือ ประเทศไทยและประเทศกัมพูชา การเปิดด่านช่องสะงำตั้งแต่ปี 2545 ถือว่าได้รับอานิสงส์จากวัดไพรพัฒนาของหลวงปู่สรวง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลวงพ่อพุฒ วายาโม ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวงในการจัดกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์สองประเทศ โดยใช้มิติทางศาสนาดึงดูดให้พุทธศาสนิกชนเดินทางมาทำบุญที่วัดตลอดเวลา ทั้งช่วงเทศกาลและช่วงปกติ ส่งผลให้มีการเดินทางมาท่องเที่ยวที่วัดแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะทางวัดมีรถนำเที่ยวอำนวยความสะดวก ฟรี  เป็นการเชื่อมโยงความศรัทธาสู่การท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
หมู่บ้านละทาย ต.ละทาย อ.กันทรารมย์  มีอัตลักษณ์และภูมิปัญญาพื้นถิ่น ทั้งด้านอารยธรรมอีสานใต้ วัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมของคนในชุมชน มีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่วัดพุทธละทายชัยมงคล จัดประเพณีบุญบั้งไฟ บุญก่อประทายในเดือนพฤษภาคมของทุกปี  นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเผ่าลาวตำบลละทาย วัฒนธรรมการแต่งกาย
  วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การละเล่นและอาหารของชนเผ่า ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านละทาย  มีโฮมสเตย์เศรษฐกิจพอเพียงบ้านสวนครูเลอไทย ศูนย์สาธิตพลังงานทดแทนโซลาเซล บ้านละทาย
​ เยี่ยมชมหมู่บ้านสมพรรัตน์  ต.หนองสะโน อ.บุณฑริก ถิ่นภูมิปัญญาการทอผ้าไหมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องผ้าไหมแบบครบวงจร จากเดิมที่เป็นการทอเพื่อใช้เองในบ้าน กระทั่งปี 2537 ชาวบ้านสมพรรัตน์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายผ้าไหมแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่อ.บุณฑริก นับแต่นั้น บ้านสมพรรัตน์ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนผ้าไหมของบ้านสมพรรัตน์ได้รับรางวัลระดับประเทศมากมาย โดยเฉพาะรางวัลตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย และยังมีการพัฒนาสร้างสรรค์ลายต่างๆเพิ่มเติม เช่น  ผ้าโสร่งหางกระรอก ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมพื้นเรียบ ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมขาวม้า ผ้าลายบัวขาว และผ้าไหมกาบบัว ส่วนของฝากของที่ระลึก มีทั้งของที่ทำจากไหม เช่น กระเป๋าผ้าไหม ดอกไม้รังไหม สบู่รังไหม และสินค้าอื่นๆ เช่นชาใบหม่อน พวงกุญแจและต่างหูอุปกรณ์ทอผ้าขนาดเล็ก เป็นต้น
 ​ทั้งนี้ด้วยคุณภาพของเส้นไหม นับตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจนเป็นเส้นไหมพร้อมทอ ผสานกับจินตนาการของคนทอและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมบ้านสมพรรัตน์มีอัตลักษณ์สวยงามเป็นที่ต้องการในตลาด สามารถสร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจให้ชุมชนโดยตรงอย่างยั่งยืน และได้รับการยกระดับเป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) ดังนั้นเส้นทางอารยธรรมอีสานใต้ นครราชสีมา - บุรีรัมย์ – ศรีสะเกษ - อุบลราชธานี  จึงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์หลากหลายด้านวัฒนธรรม ประเพณี แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนอัตลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่น เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปสัมผัส..เชคอิน  แชะ ชม ชิม ช้อป แชร์.. OTOP Village..หมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวไปแล้วจะรัก..

ความคิดเห็น