พส. อบรมวิทยากรเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่าย อพม.น้อยประจำปี ๒๕๖๒

  วันอาทิตย์ที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๑.๑๕ น. ณ ห้องไฮเดรนเยีย ๑ โรงแรมทีเค พาเลส แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นประธานในพิธีปิดและมอบประกาศนียบัตร ในการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่าย อพม.น้อย ประจำปี ๒๕๖๒
    นางนภา กล่าวว่า กรมพัฒนาและสวัสดิการตระหนักถึงความสำคัญของอาสาสมัครมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นจิตอาสาพัฒนาสังคม และได้น้อมนำพระดำริของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมด้วยการปลูกฝังการเป็น “จิตอาสา” อันเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม พัฒนาศักยภาพของเยาวชนจิตอาสาเหล่านั้นให้เป็นกลไกในพื้นที่และสามารถร่วมงานกับอาสาสมัครอย่างมีประสิทธิภาพตามบริบทและความต้องการของพื้นที่ตนเอง แบบบูรณาการกับภาคีเครือข่ายในการเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก ครอบครัว ชุมชน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งในปี ๒๕๖๑ กองหนึ่งใจ...เดียวกัน ได้จัดทำ “โครงการต้นกล้า...อาสาพัฒนาสังคม”เป็นพื้นที่กรณีศึกษา ๔ พื้นที่ ใน ๔ จังหวัด กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี และนครนายก เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นอาสาสมัครพัฒนาสังคม (อพม.น้อย) และเพื่อเป็นการขยายผลโครงการดังกล่าว จึงได้ได้จัดทำ “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่าย อพม.น้อย ประจำปี ๒๕๖๒” เพื่อดำเนินการให้ครอบคลุม๗๗ จังหวัดๆ ละ ๑ พื้นที่ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเป็นจิตอาสาให้กับเด็ก และเยาวชน เพื่อเป็นอาสาสมัคร ทำงานร่วมกับอาสาสมัครพัฒนาสังคม เครือข่ายในพื้นที่ โดยมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นพี่เลี้ยงโดยมีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนงานดังนี้ ๑.ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านการพัฒนาสังคม ๒.รณรงค์ให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารด้านการพัฒนาสังคม ๓. ประสานแจ้ง อพม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อพบปัญหาหรือความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหา ๔. มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ในหมู่บ้านและชุมชนของตน
   นางนภา กล่าวต่อว่าการอบรมวิทยากรกระบวนการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่าย อพม.น้อย ประจำปี ๒๕๖๒ จัดอบรมตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ – ๓ มีนาคม ๒๕๖๒ ผู้เข้าอบรมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ๗๗ จังหวัด อปท. หรือ อพม. และเครือข่ายในพื้นที่ ๗๗ จังหวัด ๆ รวม ๑๕๔ คน ซึ่งในการอบรมผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้ความเข้าใจสามารถเป็นวิทยากรและเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่จริงทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในการขับเคลื่อนกระบวนการส่งเสริมจิตอาสาเด็กและเยาวชน อพม.น้อย ในพื้นที่สามารถเป็นวิทยากรกระบวนการร่วมกับอาสาสมัคร เครือข่ายในพื้นที่/ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากระบวนการสร้างเสริมจิตอาสาแก่เด็กและเยาวชนขยายเครือข่ายอาสาสมัครด้านการช่วยเหลือ เฝ้าระวัง ป้องกันแก้ไขปัญหาสังคมและพัฒนาชุมชน และเป็นกลไกสำคัญในพื้นที่ ช่วยขับเคลื่อนงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในรูปแบบประชารัฐ พัฒนาสังคมไปสู่สังคมที่น่าอยู่ ยั่งยืนต่อไปนางนภา กล่าวในตอนท้าย

ความคิดเห็น