SACICT พลิกตำนานเครื่องเบญจรงค์สู่นิยามใหม่ใช้ได้จริง ตอบโจทย์ความเป็นไปได้ของตลาดใน โครงการ SACICT Signature Collection 2019 Aetas Hotels

วันที่ 30 เมษายน 2562 นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจกรรมแก่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกตามโครงการพัฒนาอัตลักษณ์เบญจรงค์ไทย 2562 (SACICT Signature Collection 2019) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอัตลักษณ์ของงานเบญจรงค์ในรูปแบบร่วมสมัยและสอดรับกับความต้องการที่เป็นไปได้ของตลาด เป็นโครงการที่ SACICT จัดขึ้นเพื่อเปลี่ยนมุมมองความคิดที่มีต่อเบญจรงค์ไทย ทั้งมุมมองคลาดและมุมมองของผู้ผลิต ให้งานเบญจรงค์ไทยยังคงคุณค่าความงดงามและเทคนิคแบบดั้งเดิม แต่ผสานด้วยนวัตกรรม การออกแบบที่นำมาสู่การใช้งานได้จริง สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคปัจจุบัน เป็นผลงานที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์และรสนิยม โดยยังคงคุณค่าความโก้หรูเปี่ยมเสน่ห์ของงานเบญจรงค์ไทย
 นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ที่สองจากซ้าย) และคุณอุไร แตงเอี่ยม ประธานหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี (ที่สี่จากซ้าย)
  ในที่ประชุมได้ให้ผู้ที่ผ่านเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านเบญจรงค์ แนวคิดในการผลิตงาน พัฒนาการในการสร้างสรรค์งานเบญจรงค์ รวมทั้งความคาดหวังในการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ขณะเดียวกันผู้ร่วมโครงการได้รับฟังมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบที่ปรึกษาโครงการ จาก ease studio และ Salt and Pepper Design studio เพื่อให้คำแนะนำแนวคิดและคำปรึกษาแก่ผู้เข้าร่วมโครงการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมี SACICT เป็นแกนในการผสานความคิดร่วมกัน เปิดโลกทัศน์ มุมมองและความคิดใหม่ๆในการทำงาน โดยได้มีการแบ่งกลุ่มระหว่างนักออกแบบและผู้ที่ลงพื้นที่ในการเดินทางเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน
   สิ่งสำคัญของโครงการ Signature Collection ในปีนี้ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของตลาด กำหนดเป้าหมายของตลาดให้ชัดเจน การตั้งราคา การใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน มีผู้ซื้อถาวร ผลงานที่ออกมาต้องมีเอกลักษณ์ตัวตนที่ชัดเจนกว่าที่มีอยู่

ความคิดเห็น