ผศ.ดร.วิเชฎฐ์ คนซื่อ ผู้อำนวยการ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงว่า ในการปลูกป่า “โครงการรักษ์น่าน สานสร้างป่า ปีที่ 2” ได้นำวิธีการปลูกป่าด้วยเทคโนโลยี 3 ประสานมาใช้ซึ่งเป็นนวัตกรรมของสถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน ประกอบด้วย เชื้อราที่เป็นมิตรกับรากไม้เชื้อราเอคโตไมคอร์ไรซาจะคอยจับความชื้นในอากาศทำให้รากมีน้ำและช่วยให้รากของพืชสามารถอยู่รอดในสภาวะอากาศที่รุนแรง พอลิเมอร์ชีวภาพ ใช้เป็นตัวเก็บกักความชื้น สำรองน้ำไว้ให้ต้นไม้ในช่วงฤดูแล้งหรือภาวะขาดแคลนน้ำ โดยใส่ในหลุมดินก่อนลงกล้าไม้ หรือผสมในดินที่ใช้ปลูก และการประยุกต์แนวคิดการปลูกป่าแบบอาคิระมิยาวากิ ของ ศ.อาคิระ มิยาวากิ โดยการยกเนินดินขึ้นมา เพื่อให้น้ำและอากาศถ่ายเทได้สะดวก เลือกปลูกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่หรือปลูกพันธุ์ไม้ประจำถิ่น รวมไปถึงการปลูกอย่างหนาแน่น คือ 3-5 ต้นต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะนำมาใช้ในการฟื้นฟูป่าที่ได้ผลอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตจุฬาฯ ที่ร่วมโครงการฯ ได้ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค ที่สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีผาสิงห์ ตำบลผาสิงห์ เช่น การเลี้ยงแพะเนื้อและแพะนม การเลี้ยงสุกรเพื่อให้บริการน้ำเชื้อสุกรเพื่อการผสมเทียม ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากน้ำนมแพะ กิจกรรมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชและสมุนไพร ชมห้องนิทรรศการพิพิธภัณฑ์สถานธรรมชาติวิทยาแห่งน่าน ฯลฯ และเยี่ยมชมสถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีไหล่น่าน อำเภอเวียงสา ชมการเพาะกล้าไม้วงศ์ไม้ยาง การเลี้ยงโคแดงพื้นเมืองน่าน และควายน้ำว้าเพื่อการอนุรักษ์ การเตรียมอาหารหมัก การเลี้ยงกบนาแบบอินทรีย์ และการเลี้ยงไส้เดือนดิน นอกจากนี้ยังได้ไปเยี่ยมชมศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดน่าน เช่น หมู่บ้านไทลื้อ บ้านร้องแง ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว วัดศรีมงคล อำเภอท่าวังผา ฯลฯ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น