ครม. ตั้ง "ดร.สรรเสริญ สมะลาภา" ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

    สรรเสริญ เตรียมช่วยผลักดันงานต่างๆ เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกร เร่งรัดการส่งออก เจรจาความตกลงการค้าค้างท่อ และหนุนเศรษฐกิจสมัยใหม่ ตามนโยบายเร่งด่วน 10 เรื่องของ รมว.พาณิชย์ หลัง ครม. ตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี
  การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ประชุมเห็นชอบรายชื่อข้าราชการการเมืองและกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอมา โดย ดร.สรรเสริญ สมะลาภา รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์
   ในเรื่องนี้ ดร.สรรเสริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เผยว่า จะช่วยงาน ตามนโยบาย 10 เรื่อง ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้คือ เรื่องที่ 1 ผลักดันโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกสินค้า 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เรื่องที่ 2 จะเน้นการดูแลราคาสินค้าและบริการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการและผู้บริโภค เรื่องที่ 3 จะเร่งรัดการส่งออกสินค้าและบริการ เรื่องที่ 4 เร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่ยังค้างท่อ เรื่องที่ 5 เดินหน้าระบบ e-filing เพื่อให้การจดทะเบียนและการให้บริการของกระทรวงพาณิชย์ ง่าย สะดวก รวดเร็ว เรื่องที่ 6 เร่งรัดการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เรื่องที่ 7 ผลักดันเศรษฐกิจสมัยใหม่ เช่น ดิจิทัล, ไบโอ อีโคโนมี, กรีน อีโคโนมี, แชร์ริ่ง อีโคโนมี, ครีเอทีฟ อีโคโนมี และการค้าออนไลน์ เรื่องที่ 8 ผลักดันร้านค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย) ให้เป็นสมาร์ทโชห่วย เรื่องที่ 9 มุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจภาคบริการ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เช่น ร้านอาหาร สปา ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ภาพยนตร์ เพื่อผลักดันออกสู่ตลาดต่างประเทศ และเรื่องที่ 10 จะใช้กลไกการประชุมต่างๆ เช่น การประชุมผู้บริหารกระทรวง การประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.พาณิชย์) เป็นต้น ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เดินหน้า
    ดร.สรรเสริญ จะเริ่มช่วยงานทันที โดยเฉพาะโครงการประกันรายได้เกษตรกร การดูแลราคาสินค้าและบริการให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค พร้อมทั้งเร่งรัดการส่งออกสินค้าและบริการผ่านกลไกต่างๆ โดยเฉพาะการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนหรือ กรอ.พาณิชย์ ที่จะมีระบบการติดตามสถานการณ์การค้าไทย รวมถึงวิกฤติจากสงครามการค้าโลก และสงครามการเงินโลก รวมถึงการเร่งรัดการเจรจาข้อตกลงการค้าอยู่ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนแล้ว เช่น การประชุมรัฐมนตรีมนตรี ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่กรุงปักกิ่งประเทศจีนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นายจุรินทร์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานที่ประชุม สามารถผลักดันให้ที่ประชุมตัดสินใจระดับนโยบายได้ 3-4 เรื่อง
    ดร.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การช่วยงานเรื่องเศรษฐกิจสมัยใหม่และการค้าออนไลน์ คือนโยบาย ที่นายจุรินทร์ให้ความสำคัญเช่นกัน
 ทั้งนี้ ดร.สรรเสริญ จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ สาขานโยบายการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชีย จากมหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของธนาคารโลกประจำกระทรวงการคลัง เข้าสู่การเมืองสังกัดพรรค ปชป. ในปี 2544 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 3 สมัย งานด้านการเมืองเคยเป็นรองโฆษกพรรค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (เงา) รองหัวหน้าพรรค รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ รองประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ความคิดเห็น