เด็กไทยแก้มใส “เราสู้โมเดล” เกษตรปลอดภัยเพื่ออาหารกลางวัน ชุมชนมีรายได้-ให้ทักษะชีวิตนักเรียน

จากประวัติศาสตร์การสู้รบต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เขตอำเภอโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ นับเป็นสมรภูมิต่อสู่ที่ดุเดือดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะการดักซุ่มโจมตี เพื่อขัดขวางการก่อสร้างถนนสายละหานทราย-ตาพระยา เชื่อมระหว่าง จ.บุรีรัมย์ และ จ.สระแก้ว ตามเส้นทางสายยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของชาติชายแดนไทย-กัมพูชา
วีรกรรมของประชาชน เจ้าหน้าที่ ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร เต็มไปด้วยความกล้าหาญ สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันครั้งนั้น ถูกนำมาสร้าง “อนุสาวรีย์เราสู้” เพื่อเป็นอนุสรณ์เชิดชูเกียรติ และบอกเล่าเรื่องราวความกล้าหาญ เสียสละ สามัคคี ให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึง
วันนี้ชาวโนนดินแดงจะลุกขึ้นมาร่วมด้วยช่วยกันตามปณิธาน “เราสู้” อีกครั้ง ครั้งนี้มิใช่การสู้รบเช่นในอดีต แต่เป็นการรวมใจ “สู้” เพื่อเด็กๆ ให้ได้มีอาหารคุณภาพ สะอาดปลอดภัย และมีโภชนาการสมวัย ภายใต้ปฏิบัติการ “เด็กไทยแก้มใส เราสู้โมเดล”
กว่าจะมาเป็น “เด็กไทยแก้มใส เราสู้โมเดล”
     จากโรงเรียนชนบทเล็กๆ ที่น้ำดื่มยังไม่มี อาหารกลางวันเด็กก็ห่อข้าวเปล่ามาเอากับข้าวที่โรงเรียน พอถึงเวลาเที่ยงก็ล้อมวงกินกันหน้าห้อง สุขอนามัยและสุขาภิบาลอื่นๆ จะต้องปรับปรุงทั้งหมด นี่คือภาพของโรงเรียนบ้านป่าไม้สหกรณ์ อ.โนนดินแดง เมื่อ 25 ปีก่อน
             ต่อมาในปี 2537 ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เพิ่งย้ายมาชื่อ วิโรจน์ เหลือหลาย เขาเห็นสภาพไม่ถูกสุขลักษณะของโรงเรียน จึงลงมือปรับระบบสุขาภิบาลทั้งหมด โดยขอรับสนับสนุนการทำน้ำบาดาล เพื่อทำน้ำดื่มสะอาด เรี่ยไรจากชาวบ้านและผู้ปกครองขออุดหนุนสร้างโรงอาหารที่ได้มาตรฐาน
            ด้วยความที่โรงเรียนบ้านป่าไม้สหกรณ์เป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ผอ.วิโรจน์ จึงคิดว่า เพื่อให้นักเรียนมีอาหารกินอิ่มท้อง ทางโรงเรียนต้องสร้างแหล่งอาหารด้วยตัวเอง และด้วยพื้นที่ของโรงเรียนมีอยู่ประมาณ 150 ไร่ จึงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งทำเป็นแปลงเกษตร เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา โดยให้เด็กมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัย ส่งก่อนส่งผลิตทั้งหมดเข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน ผ่านสหกรณ์โรงเรียนตามงบประมาณหัวละ 20 บาท
นอกจากเด็กได้มีอาหารที่ดีมีคุณภาพแล้ว สิ่งที่ได้คือ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และทักษะความรู้ โดย ผอ.วิโรจน์ เชื่อว่า ไม่ใช่มาเพื่อเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว แล้วคิดไม่เป็น คิดไม่ได้ ค้าขายไม่เป็น จบออกไปคงใช้ชีวิตลำบาก แต่ถ้าเด็กทุกคนมีภูมิคุ้มกันทั้ง 3 ทักษะที่กล่าวมา เมื่อเติบโตก็จะเป็นคนที่ไม่ล้มเหลวในชีวิต
      “ผมใช้เวลาเกือบ 10 ปี ทำให้โรงเรียนเล็กๆ นอกสายตาแห่งนี้ ได้รับรางวัลโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรเป็นแห่งแรกของ จ.บุรีรัมย์” ผอ.วิโรจน์ ย้ำถึงความสำเร็จจากความมุ่งมั่น
   ต่อมาในปี พ.ศ.2558 โรงเรียนบ้านป่าไม้สหกรณ์ ได้เข้าร่วมโครงการเด็กไทยแก้มใส ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยการน้อมนำหลักการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบวงจรของโครงการพ ระราชดำริฯ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใน 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.ส่งเสริมการเกษตรในโรงเรียน 2.ส่งเสริมสหกรณ์นักเรียน ร้านค้า ออมทรัพย์ ส่งเสริมการผลิต 3.จัดบริการอาหารของโรงเรียนตามหลักโชนาการ ด้วยโปรแกรม Thai School Lunch  4.ติดตามภาวะโภชนาการของนักเรียน 5.พัฒนาสุขนิสัยและส่งเสริมอนามัยนักเรียน 6.พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน 7.จัดบริการสุขภาพนักเรียน และ 8.จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เชื่อมโยงทั้งการเกษตร โภชนาการและสุขภาพ
   จากการเข้าร่วมโครงการเด็กไทยแก้มใส ส่งผลให้โรงเรียนสามารถบูรณาการงานและพัฒนาทางด้านต่างๆ จนนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพอาหารของนักเรียนได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
ขณะเดียวกันยังได้ชักชวนชาวบ้านปลูกพืชผักปลอดสารเคมีเพื่อรวบรวมผลผลิตเข้าสู่โครงการอาหารกลางวันร่วมกับวัตถุดิบที่มีในโรงเรียน
“เราเห็นความไม่ปลอดภัยในพืชผักอาหารในตลาด จากที่ไปอบรมเกษตรอินทรีย์ในหลายๆ พื้นที่ ก็คิดว่าทำไมไม่ส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตพืชผักอินทรีย์ให้ลูกหลานเขากิน” ผอ.วิโรจน์ เผยถึงแรงบันดาลใจ จากนั้นเป็นต้นมาจึงได้มีการส่งเสริมให้ชุมชนปลูกพืชผักอย่างจริงจัง
พืชผักอินทรีย์ทั้งหมดจากชุมชนจะถูกรวบรวมเข้าสู่โครงการอาหารกลางวันอย่างน้อย 2 มื้อ โดยเฉพาะมื้อกลางวัน ปัจจุบันในชุมชนได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรรมจำนวน 10 ราย ร่วมกันวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบเพื่อส่งวัตถุดิบให้กับโรงเรียน และส่วนหนึ่งจะนำไปขายสร้างรายได้ให้ครอบครัว และยังสร้างความมั่นคงทางอาหารปลอดภัยให้กับชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้มีแปลงต้นแบบเนื้อที่จำนวน 7 ไร่ เพื่อให้ชาวบ้านที่สนใจมาศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเตรียมขยายผลเป้าหมาย 80 ครัวเรือน
พรธิพา จ้อยสาคู หรือ ครูเจี๊ยบ ผู้ดูแลโครงการอาหารกลางวัน อธิบายถึงการจัดการบริหารอาหารกลางวันว่า เริ่มจากการสำรวจเด็กว่าอยากทานอะไร จากนั้นก็จะไปออกแบบเมนูอาหารตามโปรแกรม Thai School Lunch เมื่อทราบถึงเมนูอาหารและวัตถุดิบที่ใช้ก็จะไปวางแผนการผลิตทั้งในโรงเรียนและทำข้อตกลงร่วมกันกับชุมชนเพื่อให้ผลิตส่งเข้าโรงเรียน ทุกวันจะมีแม่ครัวจำนวน 2 คนจะเป็นผู้ปรุงอาหารให้เด็กได้รับประทาน
 “เราเห็นผลการเปลี่ยนแปลงชัดเจน จากการเก็บข้อมูลช่วงต้นเทอมและปลายเทอม พบว่า เด็กมีน้ำหนัก ส่วนสูง สุขภาพดี  ขณะเดียวกันเราแจกเมล็ดพันธุ์ผักให้ผู้ปกครองนำไปปลูกที่บ้าน เพื่อสร้างสุขนิสัยการบริโภคผักด้วย” ครูเจี๊ยบ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
 ความสำเร็จในการสร้างอาหารกลางวันที่มีคุณภาพของโรงเรียนชายขอบ อย่าง ร.ร.บ้านป่าไม้สหกรณ์ แห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดการอาหารกลางวัน “เด็กไทยแก้มใส เราสู้โมเดล” ที่โรงเรียนทั้ง 12 แห่ง รวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 11 แห่ง ในพื้นที่ อ.โนนดินแดง จะต้องนำไปขับเคลื่อนและขยายผลให้เกิดผลสำเร็จอย่างเช่นต้นแบบ โดยเฉพาะการสร้างแหล่งเกษตรปลอดภัยสู่อาหารกลางวันที่มีคุณภาพ
     ว่าด้วย หลักเกณฑ์ “เด็กไทยแก้มใส เราสู้โมเดล” คือ การบูรณาการร่วมกันของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนสุขภาวะเด็กอย่างครบวงจร ได้แก่ 1.การเกษตรยั่งยืนทั้งภายในและชุมชนที่สามารถส่งโรงเรียนได้ 2.เด็กทุกคนต้องอ่านออกเขียนได้ 3.เด็กทุกคนมีสุขภาพดี และ 4.การบริหารโครงการอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ
  ผอ.วิโรจน์ เชื่อว่า “เราสู้โมเดล” ไม่เพียงแต่เริ่มที่เด็กโต แต่กระบวนการต้องเริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพราะนี่คือการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน หากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจัดการได้ดี ก็สามารถต่อยอดมาที่โรงเรียนได้เลย กระบวนการสร้างสุขภาวะเด็กจะมีความต่อเนื่อง และสามารถดูแลได้เต็มที่
  “เราจะทำกันทั้งอำเภอ ถ้าคิดว่ายากมันจะไม่ได้ทำ แต่เราเชื่อว่าเราทำได้ เราจะบูรณาการกันทั้งหมด ด้วยเราสู้โมเดล มีส่วนร่วมและเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ เด็กโนนดินแดงมีสุขภาวะดี” ผอ.วิโรจน์ ทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ
           นอกจากนี้โรงเรียนบ้านป่าไม้สหกรณ์ (แม่ข่าย) กับ โรงเรียนเครือข่าย ๑๔ โรงเรียน ก้อยังได้
 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ จัดทำขึ้นระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเด็กไทยแก้มใส โครงการแหล่งเรียนรู้เด็กไทยแก้มใสวิถีชีวิตสุขภาวะในโรงเรียนและชุมชนอย่างครบวงจร ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ เป็นต้นไปจำนวน ๑๔ โรงเรียน ในพื้นที่อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์เขต ๓ โดยมีโรงเรียนบ้านป่าไม้สหกรณ์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๖ ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้เด็กไทยแก้มใสแม่ข่ายในการประสานความร่วมมือและถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย
ในการดำเนินงานโครงการของเครือข่ายเด็กไทยแก้มใส มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพองค์รวมของเด็กวัยเรียนให้มีสุขภาพดี มีภาวะการเจริญเติบโตสมวัย สูงดี สมส่วน โดยจะขับเคลื่อนการดำเนินโครงการแบบมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน บ้าน และชุมชน ในการทำหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมสุขภาวะนักเรียนให้บรรลุผลสำเร็จ ด้วยการน้อมนำแนวทางการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ ด้านการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบวงจรของโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปปฏิบัติในการพัฒนาด้านเกษตร อาหาร โภชนาการ และสุขภาพเด็กในโรงเรียน ๘ องค์ประกอบคือ ๑) การเกษตรในโรงเรียน ๒) สหกรณ์นักเรียน ๓) การจัดบริการอาหาร ๔) การติดตามภาวะโภชนาการ  ๕) การพัฒนาสุขนิสัยของนักเรียน ๖) การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ ๗) การจัดบริการสุขภาพ และ  ๘) การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ด้านเกษตร อาหาร โภชนาการ และสุขภาพอนามัย เพื่อให้เด็กนักเรียนเกิดคุณลักษณะสำคัญใน ๔ ประการตามแนวพระราชดำริ คือ มีพุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และ พลศึกษา มีภาวะโภชนาการดีสุขภาพแข็งแรงไปพร้อมๆกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและคุณลักษณะที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นการพัฒนาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง เน้นให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง (Learning by doing) สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงและพึ่งตนเองได้

ความคิดเห็น