สืบสานงานหัตถศิลป์ มรดกภูมิปัญญา

เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้อนุรักษ์ผลงานหัตถศิลป์แห่งมรดกทางภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์คงอยู่ และส่งต่องานเหล่านี้ไปยังคนรุ่นใหม่ เกิดการต่อยอดความคิด สร้างงาน สร้างรายได้ต่อไป นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ให้สัมภาษณ์ เมื่อไม่นานมานี้ ว่า งานศิลปหัตถกรรมที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระทัยและทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่าง คือ “สิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ล้วนมีค่ามากที่สุด”
นางอัมพวัน: “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงชื่นชมสนใจงานศิลปหัตถกรรม ทรงเป็นผู้นำแฟชั่น ผ้าไหมและผ้าพื้นเมืองชนิดต่าง ๆ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าจก ผ้าแพรวา ด้วยทรงเกรงว่าจะสูญหายไป แต่พระองค์ท่านทรงบอกให้ชาวบ้านทำ อนุรักษ์ พระองค์ทรงซื้อจากชาวบ้านในราคาสูงเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม แต่ทรงให้ขายพวกเราต่อในราคาถูก พระองค์ท่านทรงเล็งเห็นตวามงดงาม และคุณค่าของวิถีชีวิตของชาวบ้าน หรือชนเผ่าต่าง ๆ ที่ตกทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนเหล่านี้ คือมรดกทางวัฒนธรรม เป็นงานศิลปะ ซึ่งหากงานหัตถกรรมยังเฟื่องฟูอยู่จะเป็นรายได้เสริมของชาวบ้าน หรือหากใครที่ไม่มีที่ทำกินก็ทำงานหัตถกรรมจะเป็นรายได้หลักที่ยั่งยืนของประชาชน”
 นอกจากกิจกรรมการตลาด การส่งเสริมพัฒนา ถ่ายทอด และต่อยอด ความรู้ด้านงานหัตถศิลป์ นับเป็นหนึ่งในภารกิจของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) ปัจจุบันศูนย์ฯ มีกลยุทธในการทำงานอย่างไร?
นางอัมพวัน: นอกจากความสำเร็จที่ประเมินค่าไม่ได้คือ การได้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้ของงานหัตถกรรมแห่งชาติพันธุ์ให้ยังคงอยู่ ซึ่งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับกลุ่มช่างศิลปหัตถกรรมไทย อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ สิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด 3-4 ปีมานี้ และจะส่งเสริมต่อไปอีกระยะหนึ่งคือ “การทำให้งานหัตถศิลป์อยู่ในชีวิตประจำวัน” ซึ่งเรื่องนี้จะตอบโจทย์ทุกเรื่องเลย คือหากงานหัตถกรรมที่ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ ไม่สามารถใช้ได้จริง ไม่สอดคล้องในชีวิตในปัจจุบัน จะขายไม่ได้แน่นอน วิธีการพัฒนาของเรามีความแตกต่างจากหน่วยงานอื่นคือ เราให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง สร้างประสบการณ์ เพื่อให้เกิดจากแรงบันดาลใจและกระตุ้นความคิดของเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือในกระบวนการทำงาน การทำงานกับนักออกแบบหรือผู้ซื้อปลายทาง การจัดกิจกรรมทุกครั้งจะมีการคัดเลือกผู้สนใจร่วมงาน ต่างจากเมื่อก่อนที่ใครสมัครก็ได้ ทำให้เห็นลักษณะเฉพาะของงาน เงื่อนไขการสมัครมีเพียงว่าจะต้องเป็นผลงานใหม่ เนื่องจากการเป็นของใหม่จะทำให้เกิดการพัฒนาฝีมือเป็นการกระตุ้นให้เกิดชิ้นงานที่สวยงามมากขึ้น หากต้องการขายกับเราเดือนมกราคม พอถึงเดือนสิงหาคม ของที่นำมาขายจะต้องไม่ซ้ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการปรับปรุง ดังนั้นตราบใดที่เขาได้รับประสบการณ์ การได้มาเจอผู้บริโภค เข้ามาในเมือง เห็นไลฟ์สไตล์ของผู้คน การแต่งตัว สิ่งเหล่านี้คือการกระตุ้นให้เขากลับไปคิดวิเคราะห์วิจัยว่าผลงานชิ้นต่อไปควรเดินไปทิศทางไหน
นอกจากนี้ อีกกลยุทธที่เราส่งเสริมคือการเชิดชูครู ให้ครูดึงอัตลักษณ์ของตนเองหรือของชุมชนออกมา เช่น ผ้าทอไทลื้อ มีงานของแม่ดอกแก้วกับแม่สุขวดี ครู 2 คนนี้มีความแตกต่างกันในเนื้องานของเขา ไม่ว่าจะสีสัน ลวดลาย ในวันนี้เราทำให้ครูหรือชุมชน รับรู้ถึงความพิเศษเฉพาะคืออะไร และทำให้ผู้บริโภคเริ่มรู้เช่นกัน การที่เราพยายามสร้างตัวตนของครูให้ชัดเจน นอกจากเป็นการส่งเสริมสถานะของครู ยังเป็นการสร้างแบรนด์โดยปริยาย ดังนั้นแม้ไม่มีศูนย์ฯ พวกเขาจะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เราเชื่อว่าสมาชิกของศูนย์ฯ ทุกคน ไม่มีทางกลับไปที่เดิม เพราะเขาเคยชินกับการไปก้าวข้างหน้า และถึงแม้จะมีคนลอกเลียนแบบบ้าง แต่ก็จงภูมิใจ ถือว่าเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้อื่นต่อไป นี่คือแนวคิดการทำงานของเรา
ปัจจุบัน ศ.ศ.ป.มีสมาชิกกี่คน และมีการวางแนวทางเชิงพาณิชย์สู่สากลอย่างไร?
นางอัมพวัน: มีสมาชิก 4,000 ราย มีครูและทายาทที่เราเชิดชู 381 ราย ที่เหลือเป็นชุมชนโดยรอบ เราน้อมนำพระราชดำริของพระองค์ท่านมาทำกิจกรรมในการดำเนินงานมาตลอด เราเป็นองค์การมหาชน ครูของเราที่เชิดชูนอกเหนือจากในส่วนของมูลนิธิศิลปาชีพ ศูนย์แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทศิลปหัตถกรรม  การเติบโตของเราเรียกได้ว่ายอดเติบโตมากขึ้นทุกปี และทุกที่ที่เราจัดงาน เพราะผลงานของ ศ.ศ.ป. ไม่ได้มองว่าเป็นแค่งานหัตถกรรม แต่เป็นงานหัตถศิลป์ งานทุกชิ้นจะต้องมีองค์ประกอบของภูมิปัญญาดั้งเดิมจากรุ่นสู่รุ่น เป็นงานหัตถกรรมที่คุณค่าทางวัฒนธรรม มีทักษะทางฝีมือ ซึ่งแน่นอนว่ามีคุณค่ามากกว่าราคาของที่ได้ ทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิตต่างก็ภูมิใจว่าตนเองได้มีส่วนสืบสานอนุรักษณ์งานเหล่านั้นให้คงอยู่กับสังคมไทย ปีนี้เราเปิดตลาดต่างประเทศที่ฝรั่งเศส ใต้หวัน ภูฏาน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กร การแลกเปลี่ยนครู และการตลาดด้านอื่น ๆ ชาวต่างชาติ มองว่างานหัตถกรรมเป็นงานศิลปะ เราจึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับแกลลอรี่และพิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้น
ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี เป็นอย่างไร
ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี เป็นอย่างไร ?
นางอัมพวัน: เมื่อก่อนคนทำงานศิลปหัตถกรรมไม่มีตัวตน ผู้คนมากมายเห็นผลงานของเขา แต่ไม่รู้ว่าเป็นของใครและไม่ใส่ใจด้วยว่าใครเป็นคนทำ ชอบก็ซื้อ ไม่ชอบก็ไม่ซื้อ เรามีการเชิดชูครูมานาน แต่ไม่เป็นที่รู้จัก แต่ในวันนี้เขามีตัวตน พอหยิบขึ้นมาจะรู้เลยว่าเป็นของใคร มาจากชุมชนใด แน่นอนว่ารายได้เขาดีขึ้น คนที่ได้รับการเชิดชูเป็นครูของ ศ.ศ.ป.ทันทีชีวิตเปลี่ยน แต่ไม่ได้เปลี่ยนคนเดียว ท่านทำให้ชุมชนโดยรอบเปลี่ยนด้วย
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงในแง่การเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันมีมากขึ้น เช่น ตอนนี้วัยรุ่นฮิตถือย่าม นุ่งผ้าซิ่น นำมาใช้ได้จริงในปัจจุบัน ย่ามนั้นก็จะบอกชาติพันธุ์ ชนเผ่า หรือแหล่งผลิต เพราะฉะนั้นเรื่องของงานศิลปหัตถกรรมจึงเป็นที่รับรู้เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เรียนรู้อีกเรื่องคือ งานศิลปหัตถกรรมจะอยู่นิ่งไม่ได้ จะต้องได้รับการพัฒนา ปรับปรุง ต่อยอดอยู่เสมอบนพื้นฐานของภูมิปัญญา ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ผู้ผลิตต้องรับฟังความสนใจของผู้ซื้อ และ ครูต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ มีการแบ่งปันประสบการณ์และที่สำคัญคือ การจดบันทึก มีการทำงานร่วมกันกับนักออกแบบ เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ สร้างความเป็นไปได้ จากสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้
การที่เราแข่งขันในเวทีโลกระดับสูงได้ เพราะเรามีราก การมีภูมิปัญญาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ เป้าหมายของเรา คือการเป็นผู้นำด้านงานหัตถศิลป์แห่งภูมิภาค ศ.ศ.ป.จัดทำคลังข้อมูลต่าง ๆ ที่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีการผลักดันให้ผู้ผลิต นักออกแบบ จดทะเบียนธุรกิจและจดลิขสิทธิ์ทางปัญญา เพื่อให้ผู้ผลิต ครูและชุมชนห่างไกล เข้าถึงบริการของภาครัฐ สร้างแรงบันดาลใจ รักษาคุณภาพของงานและเผยแพร่ความคิดสร้างสรรค์สู่สากล เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในการทำสิ่งที่เรารักและถนัดต่อไป

ความคิดเห็น