คนปากน้ำโพรุกยุทธศาสตร์จังหวัด ปั้น “นครสวรรค์” เมืองเกษตรอินทรีย์

ภาคประชาชนนครสวรรค์เล็ง 6 พื้นที่ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์วิถีปลอดภัย พร้อมถอดบทเรียนดึงโครงการเด่นเป็นต้นแบบกลไกการทำงาน เพื่อขยายผล ชู “บ้านดอนตะเคียน” ชุมชนเข้มแข็งต่อสู้เคมีมากว่า 20 ปีด้วยพลังของแกนนำจนประสบผลสำเร็จ
นางรัมภ์ลดาบุญโสภิต​ หน่วยจัดการระดับจังหวัดขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์จังหวัด หรือ Node Flagship โดยสำนักสร้างสรรค์​โอกาส​ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่า ในปี 2562 มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 6 พื้นที่ โดยมีเป้าหมายการขับเคลื่อนงาน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ส่งเสริมการผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมีในชุมชน และสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเกษตรกร จำนวน 4 พื้นที่ 2.ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้เชื่อมโยงกับกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์อื่นๆ โรงพยาบาล หรือหน่วยงานต่างๆ จำนวน 1 พื้นที่ และ 3.การส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การทำร้านอาหารที่ถูกสุขลักษณะ การควบคุมการใช้สารเคมีปนเปื้อนต่างๆ จำนวน 1 พื้นที่
​ทั้งนี้การขับเคลื่อนทั้ง 3 ประเด็นจะเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับของภาคีเครือข่ายทุกระดับ รวมถึงการขับเคลื่อนเชิงนโยบายทั้งจังหวัด โดยเฉพาะด้านเกษตรอินทรีย์ที่ภาคประชาชนนครสวรรค์ ต้องการให้พื้นที่ที่ดำเนินโครงการสามารถพัฒนาเป็นโมเดล กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบ ก่อนจะนำเสนอต่อสำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนไปพร้อมกันๆ โดยใช้พื้นที่ตัวอย่างของโครงการเป็นโมเดลให้กับพื้นที่อื่นที่สนใจ
​อย่างเช่น นางสาธิตา ศิลป์อยู่ รองประธานกลุ่มวิสากิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน ต.หนองยาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีการส่งเสริมครัวเรือนให้ผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมีอย่างเข้มแข็งมานานเกือบ 20 ปี  รวมไปถึงการผลลิตข้าวอินทรีย์ จนสามารถยกระดับขายเป็นอาชีพได้ และกำลังจะขยายไปสู่การทำแบบนาแปลงใหญ่อีกด้วย
​นายวิสุทธ์ เปิดเผยอีกว่า จะพัฒนารูปแบบการทำงานของแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจนเป็นระบบและขยายผลไปยังพื้นที่เครือข่ายก่อน เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว จะถอดบทเรียนให้ได้โมเดลของพื้นที่ต้นแบบทั้ง 3 ประเด็น  และจะขยายผลของต้นแบบนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกในปี 2563 ​“การทำงานในปีแรกนี้อาจจะมีปัญหาติดขัดเรื่องระบบข้อมูลอยู่บ้าง เพราะแต่ละพื้นที่ยังเป็นการเรียนรู้และทำร่วมกันไป อย่างไรก็ดีมั่นใจว่าหลังจากทำงานครบหนึ่งปีแล้ว เราจะได้โมเดลต้นแบบที่พร้อมสำหรับคนทั้งประเทศอย่างแน่นอน” นายวิสุทธิ์ กล่าว
 ​ด้าน นางมานิตร ทองคำ ประธานวิสากิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน กล่าวถึงการขับเคลื่อนเกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัยในพื้นที่ ว่า ชุมชนมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาปลูกผักปลอดสารเคมีเพื่อสร้างรายได้เสริมช่วงหลังการทำนามาตั้งแต่ปี 2545 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในช่วงแรกเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อมั่นวิถีเกษตรอินทรีย์ ขณะที่คนสนใจก็ค่อยๆ หายไป เนื่องจากผลผลิตที่ได้ราคาไม่เป็นอย่างหวัง พ่อค้ากดราคาและถูกเอาไปเหมารวมกับของเคมี ขณะที่ปัจจัยการผลิต อย่างน้ำฝน ที่ไม่สามารถคุมได้ พอทำก็ต้องทำพร้อมๆ กัน ผลผลิตก็ออกมาล้นตลาด หนี้สินที่มีอยู่ก็บีบคั้นให้ชาวบ้านต้องยอมแพ้ เพราะทำมาแล้วได้ราคาเท่ากันก็กลับไปใช้เคมีดีกว่า อย่างไรก็ตาม ปี 2547 ยังมีกลุ่มคน 9 ราย ที่ยังยึดมั่นในวิถีเกษตรอินทรีย์ที่ยังคงมุ่งมั่นทำต่อ โดยเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการขับเคลื่อนด้วยการทำกันเองทีละนิดทีละหน่อย ไม่ชวนใคร  เป็นการทำให้คนได้เห็นก่อนว่าทำได้จริง แล้วให้คนที่สนใจจะเข้ามาหาเอง
​“เราไปเรียนรู้อบรมการทำน้ำหมัก การทำปุ๋ยชีวภาพ แนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ทุกรูปแบบแล้วนำมาปรับใช้พื้นที่ของตนเอง ขณะเดียวกันก็ขอรับทุนส่งเสริมจาก สสส. เพื่อจัดอบรมยุวเกษตร เวลามีโครงการทางภาครัฐก็ดึงเข้ามาทำในเรื่องเกี่ยวกับการเกษตร” นางมานิตร กล่าว​ปัจจุบันกลุ่มวิสากิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน ได้ผลิตผักปลอดสารเคมีหลายชนิด เช่น มะระ ถั่ว ผักทอง มะเขือพวง มะเขือเปราะ ผักชี ข่าตะไคร้ มะกรูด ผลไม้ เช่น แตงโม ส่วนข้าวอินทรีย์จำนวน 157 ไร่ ได้ผลผลิต 80-90 ตัน ซึ่งมีตลาดต่างประเทศรองรับแล้ว
​ส่วนการเข้าร่วมหน่วยจัดการระดับจังหวัดขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์จังหวัด ประธานวิสากิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน มั่นใจว่ามีความพร้อมทุกอย่างทั้งกระบวนการเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้ ซึ่งเราจะขยายผลตามลำดับ คือ เริ่มที่ภายในหมู่บ้าน จากนั้นค่อยขยับไปที่ตำบล อำเภอ และจังหวัดต่อไป

ความคิดเห็น