ปักหมุด “ร้านกาแฟหวานน้อย” สิงห์บุรี ชวนคนรักสุขภาพสั่งเครื่องดื่มอ่อนหวาน

“ร้านกาแฟอ่อนหวาน” กำลังมา สิงห์บุรีเดินหน้าขยายฐาน เพิ่มพิกัดร้านกาแฟหวานน้อยสั่งได้ หรือ ร้านกาแฟอ่อนหวาน รองรับเทรนด์สุขภาพและป้องกันโรคร้ายที่ตามมาจากกาทานหวานเกินพิกัดสิงห์บุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดให้ที่ความสำคัญกับเรื่องการทานหวานเกินพิกัด ซึ่งก่อให้เกิดโรคร้าย NCDs ตามมาในอนาคต เพื่อเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุ จึงได้มีการขับเคลื่อนเพื่อให้คนในพื้นที่ทานหวานในปริมาณที่เหมาะสม โดยการชวนชวนโรงเรียนและร้านกาแฟในพื้นที่มาเข้าร่วมโครงการ
​ร้านกาแฟในสิงห์บุรีประกาศเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 10 แห่ง และมีแนวโน้มที่จะมีเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของผู้บริโภค เพราะส่วนใหญ่เมื่อเข้าร้านกาแฟมักจะสั่งหวานน้อย ดังเช่น ร้านกาแฟรีแลกซ์รูม ซิกเนเจอร์ของร้าน คือ กาแฟมะพร้าวน้ำหอม เป็นการเอาน้ำมะพร้าวมาแทนความหวาน ผสมลงในกาแฟพร้อมกับเนื้อมะพร้าว ทำให้เกิดรสชาติกลมกล่อม ไม่หวานมากและไม่เสียรสชาติของกาแฟ
ทพญ.วังจันทร์ กิตติภาดากุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสคนชอบดื่มกาแฟมีสูงมาก ร้านกาแฟก็มีทั่วทุกพื้นที่ เราจึงไปชักชวนขอความร่วมมือให้ร้านกาแฟและเครื่องดื่มเข้าร่วมโครงการ “ร้านกาแฟ/น้ำผลไม้ อ่อนหวาน” ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการรณรงค์ของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน โดยให้ร้านกาแฟและเครื่องดื่มมีเมนูทางเลือกเพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งสามารถปรับสูตรลดน้ำตาลในเครื่องดื่ม กาแฟ ให้ลูกค้าได้มีสิทธิ์เลือกมากขึ้น ปัจจุบัน จ.สิงห์บุรี มี 16 ร้านที่เข้าร่วมโครงการ
​ร้านที่เข้าร่วมโครงการจะมีป้ายประชาสัมพันธ์หน้าเคาน์เตอร์ร้าน เพื่อให้ความรู้กับลูกค้าถึงผลเสียของการรับประทานหวานมากเกินไป รวมถึงป้าย “หวานน้อย สั่งได้ อร่อยด้วย” ซึ่งเป็นป้ายบอกเปอร์เซ็นต์ระดับความหวานตั้งแต่ 100-75-50-25 และ 0 หรือ 5-4-3-2-1 ตามลำดับ เพื่อให้ง่ายต่อการสั่งความหวานในเครื่องดื่มนั้นๆ
​“ลูกค้าสามารถสั่งเมนูอะไรก็ได้ ไม่ได้ห้ามไม่ให้ทานหวาน แต่ให้หวานน้อยลงจะหวาน 75% หรือ 50% ก็ได้ อย่างน้อยให้ลูกค้าเข้าใจแนวคิดและตระหนักการไม่ทานหวาน ขณะเดียวกันร้านก็ไม่เสียฐานลูกค้าอะไร เพราะยังมีเมนูเดิมอยู่ ความหวานยังมีอยู่ เพียงแต่สามารถทำหวานน้อยลงให้ลูกค้าได้เท่านั้น” ทพญ.วังจันทร์ กล่าว
​ขณะที่ คุณสุธาทิพย์ จันสถาพร เจ้าของร้านกาแฟ Relax Room เล่าว่า เปิดร้านกาแฟมาหลายปีแล้ว และความตั้งใจคือ อยากเปิดร้านกาแฟแบบไม่ทำลายสุขภาพ จึงได้คิดเมนูกาแฟน้ำมะพร้าวขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องรับความหวานจากน้ำตาล แต่เป็นความหวานจากน้ำมะพร้าว เพราะ เป็นความหวานจากธรรมชาติ และใช้มะพร้าวหนึ่งลูกต่อกาแฟหนึ่งแก้วเลย ซึ่งโดยสรรพคุณของน้ำมะพร้าวก็มีประโยชน์อยู่แล้ว เมื่อนำมามิกกับกาแฟ เมื่อลูกค้าได้ชิมก็ติดใจจึงเป็นเมนูที่ลูกค้ามาที่ร้านแล้วต้องไม่พลาด
​ส่วนเรื่องการเข้าร่วม “โครงการร้านกาแฟหวานน้อยสั่งได้” เมื่อได้รับการชักชวนก็ตอบรับทันทีเพราะร้านกาแฟที่เปิดมานี้ก็เพื่อให้ลูกค้ามีสุขภาพที่ดีด้วย ซึ่งนอกจากเมนูดังที่ลูกค้าต้องลองแล้ว เมื่อลูกค้าเข้ามาก็จะมีอีกหลายเมนูเพื่อสุขภาพที่ใส่หวานน้อย โดยจะมีการแนะนำให้ลูกค้าทราบด้วย พร้อมกับมีแผ่นป้ายระดับความหวานของน้ำตาลให้ลูกค้าได้ดู แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าและมาอีกจะกลายเป็นลูกค้าประจำก็จะเข้าใจทันทีว่า ที่ร้านนี้เป็นร้านกาแฟอ่อนหวาน ถ้าอยากดื่มกาแฟแล้วสุขภาพดีก็มาที่ร้านได้
​ส่วน คุณอนงนาฎ พงษ์โปกุล เจ้าของร้านกาแฟ Beside You ซึ่งเป็นร้านที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการร้านกาแฟหวานน้อยสั่งได้ มาก่อน เปิดเผยว่า หลังจากทราบว่ามีโครงการนี้ก็รีบตอบรับการเข้าร่วมโครงการทันที เนื่องจากที่ร้าเป็นร้านแนววีแกน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ของคนรักสุขภาพ ที่ไม่ทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนย นม ไข่ ดังนั้นการได้เป็นหนึ่งของร้านการแฟอ่อนหวานจึงตอบโจทย์ที่ร้านเหมือนกัน
​แม้ว่าจะยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้ว ก็จะอธิบายให้ความรู้และเชิญชวนลูกค้าให้ลดความหวานจากเครื่องดื่มให้ลดลงกว่าแต่ก่อน และยิ่งถ้าลูกค้าได้เห็นป้ายก็คงจะได้มีความเข้าใจและได้พูดคุยซักถามกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะทางร้านเองก็สนับสนุนเรื่องของการรักสุขภาพอยู่แล้ว
​ทางด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย อดีตรองอธิบดีกรมอนามัย และที่ปรึกษาเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เปิดเผยว่า ปัญหาด้านสุขภาพที่มาจากโรค NCDs ในปัจจุบันส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการทานหวานจัด จนส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาและปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทานหวานกันมาก็มาจากอาหารสตีทฟู้ด และ กาแฟพร้อมชงดื่มเอง ซึ่งปัจจุบันมีร้านกาแฟเกิดขึ้นจำนวนมาก และผู้ที่เข้าไปซื้อเครื่องดื่มทานก็ชอบรสหวาน จนนำพามาสู่โรคต่างๆ ตามมา
​จากการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับน้ำตาลจากอาหารที่ทานและเครื่องดื่ม โดยได้ความหวานของน้ำตาลประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่ร่างกายได้รับ มาจากเครื่องดื่ม ซึ่งเครื่องดื่มจะแยกเป็น เครื่องดื่มจากภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีมาตรการภาษีได้คลอคลุมไว้แล้วเรื่องความหวาน กับ เครื่องดื่มจากร้านกาแฟ หรือ ร้านต่าง ๆ ที่ไม่มีการใช้เรื่องภาษี (Non Tax) ตัวนี้น่าเป็นห่วง เพราะไม่มีภาษีควบคุม จึงทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อไปได้รับความหวานเกินกำหนด ซึ่งตามมาตรฐานที่กำหนดอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์
​สิ่งที่ทางหน่วยงานพยายามทำคือ เข้าไปโน้มน้าวหรือชักชวนกลุ่มร้านกาแฟเหล่านี้ให้เข้าใจและทราบถึงพิษภัยของการทานหวานจัด ด้วยการให้ลดความหวานลงจากที่เคยชงประมาณ 25-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นปริมาณที่ลูกค้ารับได้ เพราะจะให้ลดลงแต่ขายไม่ได้ก็คงไม่ใช่ ดังนั้นจึงอาจจะเป็นลักษณะการค่อยๆ ปรับ เพื่อให้ลูกค้าได้ชินกับรสชาติความหวานที่ลดลง หรือ อีกทางหนึ่ง คือ เปิดสูตรใหม่ เป็นสูตรหวานน้อย กับ ไม่หวาน โดยให้ลองตลาดดูก่อนว่าขายได้ไหม ถ้ามีผู้บริโภคหรือลูกค้าสนใจซื้อหรือทานได้ก็รับได้เลย เพื่อยอดขายไม่ตกและชาวบ้านที่ชอบกินกาแฟได้ปรับลิ้นลดความหวานลงเรื่อย ๆ ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ก็คือ สิ่งที่เรารณรงค์กันอยู่
​“เป็นการชักชวนและชี้ให้เห็นว่าการให้ลูกค้าได้ทานกาแฟอ่อนหวานนั้นดีต่อสุขภาพของผู้ดื่ม ดีที่ช่วยทำให้ต้นทุนในการใช้น้ำตาลลดลง ซึ่งดีทั้งคนขายและคนซื้อและช่วยทางด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ดีขึ้นด้วย เราพยายามแก้ไขที่ต้นน้ำซึ่งก็คือผู้ผลิต แต่ก็เป็นผู้ผลิตรายย่อย เช่น จังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น สำหรับชักชวนผู้ผลิตกาแฟแบรนด์ใหญ่ก็พยายามดำเนินการอยู่ ถ้าได้เข้ามาเข้าโครงการด้วยก็น่าจะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้นมากกว่านี้ไปอีก” ทพ.สุธา กล่าว

ความคิดเห็น