โครงการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชน “ก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียน และโซเชียลมีเดีย”

    กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “ผนึกพลังภาคีเครือข่าย”ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมูลนิธิรักษ์ไทยขับเคลื่อนสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชน “ก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียน และโซเชียลมีเดีย”
   วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ : มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายใต้การสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ จัดพิธีเปิดโครงการ นักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียน และโซเชียลมีเดีย เพื่อส่งเสริมให้เด็ก และเยาวชนได้รับรู้แนวทางของพฤติกรรมของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย พร้อมทั้งการใช้สื่อที่สร้างสรรค์ ที่ไม่นำไปสู่การรังเกียจ การเกลียด และพฤติกรรมรุนแรง ตลอดจนการให้หลักการกับครูให้มีความเข้าใจในการแนะนำ ให้คำปรึกษา แก่ผู้ที่เป็นผู้รังแก และถูกรังแก
คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ ความเข้าใจ ปลูกฝังและสร้างภูมิคุ้มกันการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ให้กับเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันการเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะบทบาทของครู พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และชุมชน เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนงานดังกล่าว พื้นที่ปฏิบัติการสำคัญ คือ “โรงเรียน” จำเป็นต้องมีการกำหนดหลักสูตรในโรงเรียนระดับประถมศึกษาเรื่องการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยน์ ( Safe Online Practice) รวมถึงหลักสูตรการสร้างทักษะทางดิจิตอล ตลอดจนมีแนวปฏิบัติ กลไกหรือมาตรการในการปกป้องคุ้มครองเด็ก และเยาวชนจากสื่อดิจิตอลจากสถานการณ์การกลั่นแกล้งทางออนไลน์”
คุณพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า ในประเทศไทยมีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละ 600,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน นักเรียนที่อยู่ในวงจรการรังแกอยู่ในระบบการศึกษามากกว่า 40 % และประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากประเทศญี่ปุ่น) เมื่อเฉพาะเจาะจง กล่าวคือ การรังแกทางโลกออนไลน์ เกิดจาก 1) สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมจริง และต่อเนื่องไปยังสังคมออนไลน์ และ2) เกิดจากการสร้างทัศนคติ พฤติกรรมรุนแรงเกลียดชัง ในชีวิตจริง และนำไปใช้ในโซเชียลมีเดีย การล้อแกล้ง รังแกกันในโรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นที่มาและเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนการล้อแกล้งรังแกกันในโลกออนไลน์ เพราะฉะนั้นเลยเกิดการทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยเราจะจัดทำหลักสูตรออนไลน์ ระบบ E – Training สำหรับครูและบุคลากร , E-Learning สำหรับนักเรียนที่สามารถนำไปใช้กับโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 29,715 โรงทั่วประเทศ
คุณธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ. ได้มีการดำเนินงานเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการและแนวทางปฏิบัติในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการล้อ แกล้ง รังแกกันภายใต้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การพัฒนาบุคลากรในสังกัดให้มีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรังแกกันในสถานศึกษา รวมทั้งการจัดทำสื่อออนไลน์ เพื่อให้ครูและบุคลากรมีความรู้ วิธีการ และมีทักษะในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ถูกรังแก ผู้รังแก และผู้ร่วมในเหตุการณ์  อีกทั้ง สพฐ.ได้ร่วมมือกับองค์การ UNESCO และภาคีเครือข่ายในการผลักดันเพื่อลดปัญหาการล้อ แกล้ง รังแกกันในสถานศึกษา โดยใช้ชุดกิจกรรม Connect with Respect นำร่องใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย นครศรีธรรมราช ระยอง สิงห์บุรี และศรีสะเกษ
 อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของโครงการนักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย ต้องการให้เด็กและเยาวชนมีความเข้าใจเรื่องการรังแกและสาเหตุที่มาจากปัจจัยต่าง ๆ ร่วมจัดทำกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาการล้อ แกล้ง รังแกกัน โดย โครงการจะมีการพัฒนาเครื่องมือที่สามารถติดตาม สถานการณ์การล้อ แกล้ง รังแกของนักเรียนในโรงเรียน พัฒนา หลักสูตรออนไลน์ ระบบ E – Training สำหรับครูและบุคลากร และระบบ E-Learning สำหรับนักเรียน ที่สามารถนำไปใช้กับโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 29,715 โรงทั่วประเทศ พัฒนานักเรียน จำนวน 35,000 คน จาก 50 โรงเรียนนำร่องใน 5 ภูมิภาค  โดยคาดหวังให้เด็กและเยาวชนเกิดความเข้าใจ และเกิดความตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาการล้อ แกล้ง รังแกกันในโรงเรียนและโลกออนไลน์ สามารถจัดการแก้ไขปัญหา รวมถึงพัฒนาเครือข่ายครู ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจเสนอแนวทางแก้ไขหรือมาตรการป้องกันปัญหาการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ความคิดเห็น