พลังคนรุ่นใหม่ช่วยส่วนรวมรับมือโควิด-19 สร้างแอปฯ yekya ช่วยคนเก็บขยะติดเชื้อ

“เยาวชนคนรุ่นใหม่”ผุดไอเดีย สร้างแอปพลิเคชั่น yekya นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเดินทางของขยะติดเชื้อตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เป็นตัวช่วยจัดการขยะติดเชื้อ หลังพบผู้เก็บขยะเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการจัดเก็บขยะที่ไม่ผ่านกการคัดจัดแยกอย่างถูกวิธี หวังสร้างความเคยชินให้ประชาชนคัดแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง
          แม้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่ปัญหาขยะติดเชื้อยังเป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ไข เพราะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จากการใช้หน้ากากอนามัย เฟสชีลด์ ถุงมือ ชุดป้องกันเชื้อ และรวมไปถึงเข็มฉีดยา ถุงใส่น้ำเกลือ หากไม่ผ่านการคัดแยกและทิ้งอย่างถูกวิธี อาจเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่เก็บขยะของหน่วยงานรัฐ หรือ เอกชน ที่เข้ามาเก็บขยะตามบ้านเรือนของประชาชน
            ณัธธรณ์ อุลิศ นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี จึงเกิดไอเดียเพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ภายใต้การทำ “โครงการการจัดการขยะติดเชื้อในบ้านเรือน” นำเทคโนโลยีมาใช้ สร้างแอพพลิเคชั่น yekya ขึ้นมา และสร้างคิวอาร์โคดแปะไว้บนถุงจัดเก็บขยะติดเชื้อ ที่ผลิตขึ้นมา เพื่อแจกจ่ายให้กับชุมชนต้นทางที่ทำโครงการร่วมกัน เพื่อตรวจสอบดูเส้นทางการเดินทางของขยะติดเชื้อ ตั้งแต่ต้นทางคือ ผู้ทิ้ง ซึ่งก็คือคนในชุมชน จนถึงปลายทาง คือโรงงาน หรือบริษัทที่กำจัดขยะติดเชื้อ เพื่อสร้างความปลอดภัยตลอดเส้นทางการเดินทางขยะให้แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง
            ที่หมู่บ้านสมิทธิโชติ เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนแรกและเป็นพื้นที่เป้าหมายเริ่มต้นที่เขาเข้าไปร่วมพูดคุย  เพื่อชักชวนให้ผู้นำชุมชน และคนในชุมชนช่วยกันคัดแยกขยะติดเชื้อลงถุงที่เขานำไปแจก พร้อมกับประสานไปทางกรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือไปยังสำนักงานเขตต่าง ๆ แจ้งให้พนักงานเก็บขยะทราบถึงโครงการนี้ และประสานยังบริษัทฯที่ทำลายขยะ เพื่อให้ผู้ทิ้ง ผู้เก็บ และผู้ทำลายขยะ สแกนคิวอาร์โค้ดบนถุงขยะเพื่อให้ผู้ดำเนินการโครงการ และผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบเส้นทางการเดินทางขยะติดเชื้อได้ว่า ถึงจุดไหนแล้ว และถูกส่งไปยังจุดสุดท้ายเพื่อทำลายหรือยัง
            การทำงานของแอปพลิเคชั่นนี้ เริ่มจากชาวบ้านที่ต้องการทิ้งขยะ ต้องคัดแยกขยะติดเชื้อใส่ถุงที่เตรียมไว้ให้ แล้วก็เอาถุงใส่ขยะไปทิ้งยังถังขยะที่ตั้งอยู่ในชุมชน ซึ่งเป็นถังใส่ขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ  โดยทั้งบนถุงและหน้าถังขยะจะมีคิวอาร์โค้ดติดอยู่ หลังสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วจะเข้าสู่แอปพลิเคชั่น yeka  ทำการลงทะเบียนเข้าใช้ และเลือกว่าเป็นผู้ทิ้งขยะ ผู้จัดเก็บขยะ  ผู้ทำลาย หรือ ผู้ดำเนินโครงการ
            หลังจากนั้นก็เลือกประเภทและจำนวนของขยะที่ทิ้ง และบันทึกข้อมูล ซึ่งระบบจะประมวลผลไว้ เมื่อผู้เก็บขยะมาเก็บก็ทำแบบเดียวกัน จนถึงผู้จัดการขยะ ท้ายสุดแล้วระบบจะประมวลผลทั้งหมดให้ผู้ดำเนินโครงการได้ทราบข้อมูลว่า ในแต่ละวันมีการทิ้ง จัดเก็บและทำลายขยะติดเชื้อประเภทไหนบ้าง มากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งสามารถเก็บเป็นสถิติข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไปได้ในอนาคต
            “ช่วงที่มีปัญหาโควิด-19 ผมจะเห็นข่าวบ่อย ๆ ว่า ผู้เก็บขยะติดเชื้อมีปัญหา เพราะ เขาไม่ทราบว่าขยะที่เก็บมานั้นติดเชื้อหรือไม่ ผมจึงเกิดไอเดียนี้ขึ้นมา ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ สสส.ให้โอกาสคนทั่วไปเสนอโครงการ ผมจึงเสนอโครงนี้เข้าไป เพราะคิดว่าสามารถช่วยคนเก็บขยะลดความเสี่ยงลงได้ ขณะเดียวกันก็สามารถตรวจสอบได้ว่าขยะที่เป็นขยะติดเชื้อนั้น ถูกคัดแยกและกำจัดอย่างถูกวิธีหรือไม่”
            ณัธธรณ์ บอกอีกว่า จากการทำโครงการนี้ นอกเหนือจากอยากช่วยคนเก็บขยะปลอดภัยจากขยะติดเชื้อแล้ว ยังแอบคาดหวังว่า โครงการเล็ก ๆ ของเขาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยจุดประกายให้คนในชุมชนเริ่มตระหนัก หรือ ให้ความสำคัญกับเรื่องการแยกขยะก่อนทิ้ง หากประชาชนได้ทำจนเป็นความเคยชิน ก็หวังว่าจะทำให้รู้จักแยกขยะทุกประเภทก่อนทิ้ง ไม่ใช่แยกเฉพาะขยะติดเชื้อเท่านั้น
            ทางด้าน วันวิไล พลลพ ประธานชุมชน หมู่บ้านสมิทธิโชติ และอีกบทบาทหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่อาสาสาธารณสุขชุมชน (อสส.) เปิดเผยว่า โครงการคัดแยกขยะติดเชื้อในชุมชน เป็นไอเดียที่ดี ถ้าทุกคนในชุมชนช่วยกันคัดแยกขยะติดเชื้อก่อนทิ้งก็จะมีประโยชน์มาก ซึ่งโดยส่วนตัวไม่รู้มาก่อนว่า ก้นบุหรี่ เข็มฉีดยา เป็นขยะติดเชื้อด้วย พอได้ทำงานร่วมกับทีมนี้จึงได้เข้าใจเพิ่มมากขึ้น และการที่มีเด็กรุ่นใหม่นำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนแบบนี้นับได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และก็รู้สึกยินดีที่ชุมชนของตนได้รับเลือกเป็นชุมชนแรกที่น้องเขาลงพื้นที่มาดูและได้ทำงานร่วมกัน เพราะ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนนี้มาก
            ขณะที่อาจารย์นันทนา บุญละออ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ปรึกษาให้นักศึกษาทำโครงการนี้ เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่เห็นนักศึกษาทำงานได้จริง แม้จะเป็นโครงการเล็ก ๆ ที่ทำในระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 3 เดือน แต่ก็ทำให้นักศึกษาได้ลงมือทำจริง โดยพี่สาวและพ่อของนักศึกษาร่วมช่วยออกแบบแอปพลิเคชั่นขึ้นมาเอง ซึ่งตอบโจทย์การทำงานมาก เพราะใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และสามารถต่อยอดนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลต่อได้ในอนาคต ซึ่งตนเชื่อว่า ในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 นี้ ยังมีโครงการเล็ก ๆ แบบที่นักศึกษาของตนทำอีกจำนวนมาก กระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า มีพลังคนกลุ่มเล็ก ๆ อย่างนี้ที่ต้องการช่วยเหลือส่วนรวมกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย
            “คิดว่าคงมีโครงการที่ช่วยเหลือสังคมที่เกิดขึ้นจากการทำงานของคนกลุ่มเล็ก ๆ แบบนี้กระจายอยู่มากมาย ในขณะนี้ อาจจะมีคนรู้บ้างไม่รู้บ้าง แต่ก็เชื่อว่า หากวันหนึ่งโครงการจากคนกลุ่มเล็ก ๆ เชื่อมกันได้ก็จะกลายเป็นพลังยิ่งใหญ่ เป็นผลดีต่อการช่วยเหลือสังคมในวงกว้างได้ ใครที่มีไอเดียและอยากให้ทำและอย่าคิดว่าเป็นโครงการเล็ก หรือใหญ่ขอให้ลงมือทำต่อไปค่ะ” อาจารย์นันทนา กล่าว
            สำหรับ“โครงการการจัดการขยะติดเชื้อในบ้านเรือน” เป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ภายใต้โครงการใหญ่ “โครงการพลเมืองไทยสู้ภัยโควิด” ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สนับสนุนให้คนกลุ่มเล็ก ๆ ได้แสดงศักยภาพและทำงานเพื่อช่วยเหลือคนในสังคมในช่วงวิกฤติโควิด-19
          ซึ่งนายณัธธรณ์ เจ้าของโครงการฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเองรู้สึกดีใจที่ สสส.เปิดโอกาสและให้เวทีแก่คนรุ่นใหม่อย่างเขาได้แสดงความสามารถ ขณะที่พี่สาวของเขาผู้ออกแบบแอปพลิเคชั่นบอกเช่นกันว่า การจัดการขยะเป็นการพัฒนาขั้นพื้นฐานของชุมชน การที่มีหน่วยงานให้ความสำคัญ และให้โอกาสแก่คนกลุ่มเล็ก ๆ ได้ช่วยแก้ปัญหา และช่วยเหลือสังคมเช่นนี้ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีและชื่นชม

ความคิดเห็น