พ่อแม่วิถีใหม่ เรียนรู้รับมือโควิด-19

โควิด-19 คือสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และสร้างความกังวลใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองไม่น้อย ดูจากผลสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามี 5 ความวิตกกังวลที่มาเป็นอันดับแรก คือ 1.กังวลว่าบุตรหลานไม่ได้เรียนหนังสือ 2.กลัวลูกเล่นเกม ติดมือถือมากกว่าปกติ 3.กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวัน 4.กังวลเรื่องระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing และ 5.กังวลการป้องกันการติดเชื้อ

             ขณะเดียวกันวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้อยู่กับลูกมากขึ้น เพราะหลายคนก็ทำงานที่บ้าน เช่นเดียวกับลูกที่ยังไม่เปิดเทอมจากที่เคยโยนภาระเลี้ยงดูให้กับโรงเรียน ดังนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นชินสำหรับพ่อแม่หลายคน โดยเฉพาะสังคมเมืองที่ต้องทำงานนอกบ้านจนไม่มีเวลาดูแลลูกมากเท่านี้มาก่อน ถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญ

            เมื่อมีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น ความไม่เคยอยู่กับเด็ก ไม่เข้าใจถึงลักษณะของเด็กอย่างถ่องแท้ ยิ่งทำให้เกิดความเครียด ว่าจะต้องดูแลเลี้ยงดูอย่างไร เสพสื่ออย่างไรให้พอเหมาะและต้องทำอย่างไร

            คำถามต่างๆ เหล่านี้เป็นที่มาของโครงการสื่อสร้างสรรค์สำหรับผู้ปกครอง เพื่อพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 ของเด็กปฐมวัย หนึ่งในโปรเจคพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน เพื่อเป็นสื่อกลางให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุ 3-5 ปี ได้เรียนรู้และเข้าใจกันและกัน พร้อมกับส่งผ่านความรู้เรื่องโควิด-19 สู่ลูกๆ ด้วย

            เมื่อเร็วๆ นี้ทางโครงการสื่อสร้างสรรค์สำหรับผู้ปกครอง ได้จัดเสวนาออนไลน์ โดยมีนักจิตวิทยาเด็กมาแลกเปลี่ยนและให้ข้อแนะนำกับพ่อแม่ใน “พ่อแม่วิถีใหม่” : รู้ทัน รู้ใจ รู้รับมือ ในห้องเรียนออนไลน์” ซึ่งรู้ทัน คือการทันต่อสถานการณ์ Covid 19 ในมุมมองจิตวิทยาและการศึกษา รู้ใจ คือผลกระทบต่อพฤติกรรมและการตอบสนองของความวิตกกังวลที่ปกติและไม่ปกติ ส่วนรู้รับมือนั้น เป็นยุทธวิธีจัดการความวิตกกังวล การผ่อนคลาย และการปรับตัว
     เริ่มต้นที่ รศ.ดร.มานิกา วิเศษสาธร อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  เปิดเผยว่า พ่อแม่มีผลกระทบโดยตรงต่อเด็ก พ่อแม่บางคนมีความกังวลเป็นบางเรื่องและอาจเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และเหตุการณ์ ถ้าไม่ใช้ชีวิตอย่างวิตกกังวล หรือกังวลแบบพอเหมาะพอควร ก็จะทำให้ใช้ชีวิตอย่างตระหนักกับสิ่งที่เข้ามาเพื่อเรียนรู้ป้องกัน นี่คือการรู้ทัน

ส่วนการรู้ใจนั้น ถ้าอธิบายความกังวลเป็นเรื่องของข้างในจิตใจ ไม่มีตัวชี้วัดให้อ่านค่าได้ เมื่อคนเราเจอความไม่แน่นอนที่มากคุกคามชีวิตก็จะส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้เกิดความวิตกกังวล หากมีมากขึ้นไม่ลดลงและนานผิดปกติก็จะส่งผลต่อด้านอื่นของชีวิตตามมา ดังนั้นจึงต้องรู้สถานะใจของตัวเอง เพื่อไม่ให้เกินขีดจำกัดที่รับได้

            ขณะที่ อาจารย์ปิยพงศ์ แซ่ตั้ง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ความเห็นว่า ความวิตกกังวลจากพ่อแม่ส่งต่อไปถึงลูกได้ เช่น กลัวลูกจะเจ็บป่วยไปหมด กลัวเป็นโควิด ระแวงทุกเรื่อง ลูกก็จะซึมซับความเครียด ระแวงวิตกนี้ได้
   “ความวิตกกังวลจะไม่เป็นโรคติดต่อ ไม่ใช่เชื้อโรค แต่มันส่งต่อได้” อาจารย์ปิยพงศ์ ย้ำและว่า พ่อแม่บางคนโวยวาย ดุโมโห ลงโทษหากลูกผิดพลาด ซึ่งอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย การทำเช่นนี้จะพัฒนาไปสู่บุคลิกภาพไม่กล้าแสดงออก ความเข็มแข็งความมั่นคงทางใจน้อย ปรับตัวอยู่กับคนอื่นลำบาก ดังนั้นเราก็ต้องยับยั้งอารมณ์ในการตำหนิหรือลงโทษลูก และดูว่าเราโอเวอร์แอคชั่นมากไปหรือเปล่า

            “เด็กวิตกกังวลดูยากกว่าผู้ใหญ่ เขาไม่รู้อารมณ์ตัวเองว่าเขากำลังเป็นอะไร พ่อแม่จึงต้องสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูก ซึ่งจะบ่งบอกความรู้สึกของเด็ก พ่อแม่ต้องสร้างบรรยากาศให้เด็กระบายออกมา เช่น หากิจกรรมให้เขาทำ เปิดโอกาสให้พูด แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กมากก็อาจจะให้การวาดรูปเป็นเครื่องมือ เพราะพ่อแม่ มีใจรักลูกอย่างบริสุทธิ์ ช่วยลดความวิตกกังวลให้กับลูกได้” อ.ปิยพงศ์ แนะนำพ่อแม่วิถีใหม่เช่นนี้

            เมื่อรู้ทัน รู้ใจ แล้ว มาถึงการรู้รับมือไม่ให้เกิดความวิตกกังวล โดย ดร.ณัชชามน เปรมปลื้ม จากคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง แนะนำให้หลัก RPP พร้อมอธิบายว่า R แรกคือ Receive Thinking การคิดตามสถานการณ์ที่เป็นจริง รับรู้ข้อมูลข่าวสารตามจริง ไม่ใส่อารมณ์ ความรู้สึก เลือกรับข่าวสารจากแหล่งน่าเชื่อถือที่มีความเชื่อมั่นในข้อมูลได้ ถ้าพูดง่ายๆ คือ อย่ามโน P หรือ Present อยู่กับปัจจุบัน ใช้ชีวิตให้กับเหมาะสมกับสถานการณ์ และ P สุดท้าย คือ Positive thinking คิดบวก ซึ่งบางคนอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ฝึกกันได้

            การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญและเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พ่อแม่ รู้ทัน รู้ใจ และรู้รับมือ อย่างถูกวิธี อย่างเช่นโครงการ “สื่อสร้างสรรค์สำหรับผู้ปกครองเพื่อพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 ของเด็กปฐมวัย” ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 สื่อกิจกรรมที่ช่วยพ่อแม่สามารถสื่อสารให้เด็กเข้าใจได้ง่าย ด้วยรูปแบบการสื่อสารที่เข้าใจง่าย ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ค Fun from fam.สื่อสร้างสรรค์สำหรับผู้ปกครองเด็กปฐมวัย

            ผศ.ดร.บงกช ทองเอี่ยม อาจารย์ประจำภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยว่า สำหรับเด็กปฐมวัยแล้ว พ่อแม่คือคนที่สำคัญที่สุด ได้มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น แต่บางคนก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรกับลูกบ้าง เพราะบางคนเพิ่งจะมาอยู่กับลูกในช่วงนี้

            เด็กจะเสี่ยงติดโควิด-19 หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ในส่วนที่มีความรู้ไม่ค่อยน่าห่วง แต่สำหรับพ่อแม่ที่ยังลำบากแบบหาเช้ากินค่ำ ตรงนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจ และพยายามสื่อไปให้ถึง และให้เขาเข้าใจง่าย

            ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางการแนะนำกิจกรรมและวิธีดูแลเด็กปฐมวัยอย่างสร้างสรรค์ โดยอย่างแรก พ่อแม่วิถีใหม่จะต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กปฐมวัย หากมีนักจิตวิทยามาให้คำแนะนำสอนลูกอย่างไรความกังวลใจ และมีเครื่องมือ สื่อ กิจกรรมที่สามารถเอาไปใช้กับลูกได้ โดยเอาสิ่งที่มีอยู่ในบ้านมาสอนเด็ก  ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกอยู่บ้านอยุ่หน้าจอมือถือผ่านไปวันๆ แล้วเกิดปัญหาระยะยาว

             การปลูกฝังเด็กในช่วงปฐมวัยถือเป็นช่วงวัยทองที่เขาจะซึมซัมพัฒนาเป็นบุคลิกภาพและติดเป็นนิสัยเมื่อเติบโต อย่างเช่นการล้างมือ ใส่หน้ากาก เราสอนกันมานานก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ใช่แค่ป้องกันโควิด ยังเป็นการป้องกันเชื้อโรค แบคทีเรีย หรือฝุ่นละลอง PM2.5 อีกด้วย ดังนั้นเราปลูกฝังลักษณะนิสัยให้เด็กทุกวัน เราไม่ต้องคำนึงหรอกว่าโควิด-19 จะหมดไปเมื่อไหร่

          แม้อาจจะเป็นเรื่องยากในการปรับตัวสำคัญครั้งนี้ แต่ขอให้กำลังใจ “พ่อแม่วิถีใหม่” ให้ก้าวผ่านไปด้วยกัน เพื่ออนาคตที่สดใสของแก้วตาดวงใจ

ความคิดเห็น