“คนหูหนวกอยากรู้ ล่ามอยากเล่า” สื่อสารเพื่อทุกกลุ่มชนสู้ภัยโควิด

เมื่อล่ามขอเล่า กลุ่มคนหูหนวก จะไม่เหงาอีกต่อไป เพียงนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือเปิดมือถือ ดูรายการ “คนหูหนวกขอรู้ ล่ามขอเล่า” ผ่านออนไลน์ เพื่ออัพเดท ข้อมูลข่าวสาร และรู้ทันกับสถานการณ์โคโรนาไวรัส 2019 คนเปราะบางกลุ่มนี้ก็จะไม่ตกหล่นข้อมูล รู้ทุกอย่างของข้อระวังและการดูแลตัวเองให้ปลอดภัย
            สำหรับประชาชนทั่วไปการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ แต่สำหรับกลุ่มคนเปราะบางอย่าง คนหูหนวก การสื่อสารจากการอ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือ ทีวีเพียงอย่างเดียวอาจจะสื่อความเข้าใจไม่เพียงพอ ทีมล่ามอาสา 5 คนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย จึงดำเนินการโครงการ “คนหูหนวกอยากรู้ ล่ามอยากเล่า” ผลิตคลิปวีดีโอ มีเนื้อให้ความรู้แบบจัดเต็ม เกี่ยวกับโควิด-19 สื่อเป็นภาษามือ เพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง พร้อมแนะนำการปรับตัว การใช้ชีวิต เพื่อให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ New Normal
            สุชาดา จิตรสุภาพ ล่ามภาษามือ ล่ามอาสาจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ริเริ่ม “โครงการคนหูหนวกขอรู้ ล่ามขอเล่า” เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีคนหูหนวกที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนอยู่ประมาณ 3 แสนกว่าคน และอาจจะมีที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นทางการอีกจำนวนเท่าไหร่ไม่ทราบได้ ในฐานะล่ามภาษามือ ตนเองกับเพื่อนล่ามอีก 4 คน เคยคิดกันว่า อยากทำสื่อออนไลน์ เพิ่มช่องทางสื่อสารรูปแบบใหม่ให้กับกลุ่มคนหูหนวก แต่สถานการณ์และจังหวะยังไม่เอื้ออำนวย
            เมื่อเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน การสื่อสารเพื่อให้กลุ่มคนเปราะบางกลุ่มนี้มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะข้อมูลที่สื่อภาษาปกติอาจจะไม่เพียงพอสำหรับคนกลุ่มนี้ เป็นจังหวะดีที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดโอกาสให้คนกลุ่มเล็ก ๆ เสนอโครงกาเข้าใจในช่วงนี้ ตนและทีมจึงได้เสนอโครงการเพื่อทำรายการ “คนหูหนวกขอรู้ ล่ามขอเล่า” เผยแพร่ผ่านช่องทาง Facebook
            รายการนี้เป็นการใช้ภาษามือสื่อให้ความรู้แก่คนหูหนวก เน้นเนื้อหาเรื่องความปลอดภัย การทำให้ตัวเองให้ห่างไกลจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยวางโครงเรื่องไว้ทั้งหมด 50 ตอน ขณะเดียวกันก็ผลิตคลิปทันต่อสถานการณ์ออกมาด้วย เช่น ถ้ามีการประกาศมาตรการต่าง ๆ ออกมาจากรัฐบาล ทางทีมฯก็จะรีบทำคลิปเพื่อนำเสนอเรื่องที่เพิ่งอัพเดทแทรกเข้าไปด้วย เพื่อให้พวกเขาได้รับข่าวสารข้อมูลใหม่ ๆ ตามสถานการณ์ด้วย
            “คนหูหนวกจะเป็นกลุ่มคนที่มีสังคม ปกติเขาจะออกมาเจอ พูดคุยกันเกือบทุกวัน เมื่อเกิดวิกฤติอย่างนี้ก็ออกมาพบกันไม่ได้ อาจทำให้เครียด เราไม่อยากให้เขาเครียด อยากให้เขาอยู่บ้านได้อย่างมีความสุข จึงได้คิดหาทางที่จะช่วยให้เขาไม่ต้องรู้สึกว่าห่างไกลกันเกินไปในช่วงนี้ ก็อัดคลิปให้ความรู้ไปเรื่อย ๆ”
            สุชาดา ยังบอกอีกว่า มีพฤติกรรมชองคนหูหนวกชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ติดต่อสื่อสาร พบปะกันตลอดเวลา เวลาจะเรียกกันหรือพูดคุยกันก็ต้องก็แตะตัวหรือสะกิด ชอบพูดคุยในระยะใกล้ชิด ถ้าพูดไกลก็กลัวว่าขณะพูดหากมีคนเดินตัดหน้า จะทำให้การสื่อสารภาษามือของพวกเขาสื่อกันไม่รู้เรื่อง
            หนึ่งในคลิปที่ผลิตจึงต้องมีการให้ความรู้เรื่องการรักษาระยะห่าง เพื่อให้เขาเข้าใจว่า ในช่วงวิกฤตินี้จะใช้พฤติกรรมแบบเดิมไม่ได้แล้ว ให้เปลี่ยนจากการเจอกันปกติ มาเป็นคุยผ่านวีดีโอคอล เจอกันเมื่อจำเป็นจริง ๆ หากเจอกันแล้วต้องพูดคุยกันก็ไม่ควรใช้วิธีสะกิดหรือโดนตัวกัน  แต่เปลี่ยนเป็นเดินไปข้างหน้าของคนที่จะคุยด้วย อยู่ในระดับสายตาของเขา แล้วค่อยพูดกัน
            “รายการฯ เลยกลายเป็นสังคมที่มีคนหูหนวกติดตามประจำ เพราะเขาก็อยากรู้ว่า มีอะไรมาอัพเดทบ้าง และและการนำเสนอเราก็ไม่อยากให้น่าเบื่อ จึงเชิญคนหูหนวกมาร่วมในรายการด้วย อยากทำให้เขารู้สึกยังใกล้ชิดกัน และ อยากทำให้เขารู้สึกว่าอยู่บ้านได้อย่างมีความสุข”
            ด้าน สุชิน บริสุทธิ์บัวทิพย์ คุณพ่อหูหนวกลูก 2 คน ซึ่งมีภรรยาเป็นคนหูหนวกด้วย แต่ลูกสาวทั้งสองคนปกติดีทุกอย่าง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ติดตามดูคลิปตลอดเวลา ขณะเดียวกันมีบางตอนเขากับภรรยาและลูกสาวทั้งสอง ร่วมเป็นนักแสดงอยู่ในคลิปด้วย
            สุชิน มองว่า เนื้อหาแต่ละตอนที่นำเสนอในรายการฯนี้ มีประโยชน์อย่างมากสำหรับเขาและเพื่อน ๆ  เพราะถึงแม้คนหูหนวกจะอ่านหนังสือ ติดตามข่าวเรื่องโควิด-19  ได้ แต่อาจเข้าใจไม่หมด  คลิปที่ล่ามภาษามือทำมานั้น สื่อสารเป็นภาษามือ ช่วยให้พวกเขาเข้าใจง่าย และมีเนื้อหาไม่น่าเบื่อ
            นอกจากจะทำให้รู้สึกว่า สังคมของพวกเขาได้ใกล้ชิดกันแล้ว ยังได้ความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า ควรต้องใช้ชีวิตอย่างไรในช่วงนี้ ต้องใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย และควรปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไรเพื่อให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่แบบ New Normal
            “จากที่เห็นในรายการนี้ยิ่งทำให้เข้าใจเลยว่า ผมและครอบครัวต้องป้องกันตัวเองนะ ไม่ใช่เอาแต่วัฒนธรรมของเราอย่างเดียว ตอนนี้เราจะคิดอย่างนั้นไม่ได้แล้ว แต่เราต้องรู้จักป้องกันตัวเอง ยิ่งเป็นคนหูหนวกด้วยแล้วก็ต้องป้องกันตัวเองมากขึ้นไปอีก” สุชิน กล่าว
          รายการ “คนหูหนวกขอรู้ ล่ามขอเล่า” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤติ ของ สสส. ที่สนับสนุนให้กลุ่มคนตัวเล็กได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมช่วยกันทำเรื่องดี ๆ เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ รายการนี้มีทั้งหมด 50 ตอน นำเสนอผ่านช่องทาง Facebook / รายการคนหูหนวกขอรู้ ล่ามขอเล่า ทุกคนสามารถติดตามเข้าไปคลิกดูได้
          ทีมล่ามภาษามือยังฝากบอกทิ้งท้ายอีกว่า หลังจากทำโครงการนี้แล้วรู้สึกว่าดีต่อใจมาก เมื่อเห็นกลุ่มคนหูหนวกได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง มีประโยชน์ ทำให้ทีมมีกำลังใจในการทำเพิ่มขึ้น จึงอยากต่อยอดทำต่อ แม้จะสิ้นสุดโครงการที่ทำกับ สสส.แล้ว ทางทีมล่ามภาษามือ ยังคงอยากจะทำคลิปให้ความรู้เช่นนี้เผยแพร่ต่อไป เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารใหม่ ให้ความรู้แก่กลุ่มคนหูหนวกได้รับข่าวสารที่ดี มีประโยชน์ โดยจะปรับเนื้อหาให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ new normal เพื่อให้กลุ่มคนเปราะบางกลุ่มนี้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคม

ความคิดเห็น