ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกและประธานกรรมการ เปิดกิจกรรม “TMF Power Fusion” ครั้งที่ 5 รวมความเห็นประชาชน ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “TMF Power Fusion” โดย “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” จัดขึ้น เพื่อเปิดเวทีให้นักศึกษาและประชาชน 5 ภูมิภาค ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อและผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม ภายในงานครั้งนี้  ประธานได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมด้วย รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม, นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย, ผศ.ดร. วรัชญ์ ครุจิต, นายสมชาย เจริญอำนวยสุข, ดร.ธนกร ศรีสุขใส, ดร. สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน และ นายธวัชชัย ไทยเขียว จัด TMF Talks ในหัวข้อ “การบูรณาการแผนพัฒนา ด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระยะที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๖๕)” และ เสวนาวิชาการ การสร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์ด้านพลังการมีส่วนร่วม (วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร)
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี วิสัยทัศน์ มุ่งเน้นให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมาย “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน” ยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ พัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม
สำหรับมิติด้านการสื่อสารก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน จากสภาพการณ์ของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้กระบวนการเรียนรู้ของคนในสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป สื่อกลายเป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งใหม่ที่สามารถกระตุ้นการรับรู้และ ดึงดูดความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเด็กและเยาวชน โดยจะเห็นได้ว่ารูปแบบและเนื้อหารายการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน  ในสื่อหลายประเภทยังคงมีไม่เพียงพอ รวมถึงการรู้เท่าทันสื่อ ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งในหมู่ประชาชนทั่วไป ก่อให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของข่าวปลอม (Fake news) การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) รวมทั้งการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม ในอินเทอร์เน็ต (Hate speech) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่กระทบต่อสังคมในมิติทางวัฒนธรรม มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางอาชญากรรม และมิติทางด้านความมั่นคง

​คณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ร่างแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) ขึ้น โดยมีวิสัยทัศน์ สื่อมีคุณภาพสูงภายใต้หลักแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ประชาชนใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ รู้เท่าทันสื่อ ก่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ บนพื้นฐานวัฒนธรรมที่ดีงาม เป้าหมายสำคัญ คือ ผู้ผลิตสื่อมีจริยธรรมมีผลผลิตสื่อที่มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือส่งเสริมให้เกิดสื่อเชิงนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น ประชาชนทุกกลุ่มมีความรู้เท่าทันสื่อ มีจริยธรรม และความรับผิดชอบในการสื่อสารมีทักษะและพฤติกรรมในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อที่ไม่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก เยาวชนผู้สูงอายุ และ  คนพิการ มีกลไกการบูรณาการการทำงาน ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเครือข่ายวัฒนธรรม ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม  มีความเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ กฎหมายมีความทันสมัย และกลไกในการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีพันธกิจหน้าที่ ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างมีจริยธรรมและ ความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เกิดการรู้เท่าทันสื่อรวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อที่ไม่เหมาะสม พัฒนากลไกการบูรณาการการทำงานร่วมกัน สนับสนุนการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย

ด้าน รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เผยว่างานวันนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกท่าน ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับพวกเราชาวกองทุนพัฒนา    สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของประชาชนถือเป็นหลักการสากลที่สำคัญ นิยามของคำว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ก็คือ การกระจายโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมสำคัญของการบริหารบ้านเมือง ร่วมตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน  บทบาทในการมีส่วนร่วมนั้น เบื้องต้นเลยคือการที่ ประชาชนเข้ามามีส่วนในการให้ข้อมูล มีโอกาสได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมในการวางแผน และมีส่วนร่วมลงมือปฏิบัติร่วมกัน นี่เป็นกรอบคิดโดยรวมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นกองทุนของรัฐในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการผลิต การพัฒนา และการเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ  เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพฤติกรรมที่ดีของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสื่อ

กฎหมายจัดตั้งให้กองทุนทำงานได้เป็นอิสระ แต่ก็มีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีทั้งข้าราชการประจำและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ 9 ท่านจากภายนอก กองทุนมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ และได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม ทำหน้าที่ มีรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรองประธานฯ และมีผู้จัดการกองทุน เป็นเลขานุการการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อเป็นพันธกิจสำคัญของกองทุน ที่กฎหมายกำหนดไว้ มีคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำหน้าที่ในการเสนอมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อให้ประสานความร่วมมือพัฒนาด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมุ่งหมายให้การพัฒนาสื่อปลอดภัยละสร้างสรรค์เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่กองทุน เลือกใช้ในปัจจุบัน คือการจัดให้มีกลไก ภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  การเฝ้าระวัง และการรู้เท่าทันสื่อกองทุนปรารถนาจะสร้างเครือข่ายผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่มีจำนวนและมีความหลากหลายมากขึ้น สร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายระดับชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเป็นเจ้าของร่วมกัน

ท้ายสุด ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์       กล่าว สรุปปิดท้ายเวทีแห่งนี้เปิดโอกาสให้ทุกท่านแล้วไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน เอกชน ราชการ ผู้ผลิตสื่อท้องถิ่น สื่อมวลชน ฯลฯ  ท้ายสุด ขอขอบคุณทุกท่าน ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุภาค ผมเชื่อว่าทุกท่านมีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น ที่จะให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดสื่อที่ดี สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เป้าหมายร่วมกันคือ สังคมของเรามีนิเวศสื่อที่ดี เกิดสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน หลังจากนี้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมการสัญจรทั้ง 5 ภาค จะนำไปกำหนดเป็นแบบแผนในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป

ความคิดเห็น