สภากาชาดไทยเปิดตัวตราสัญลักษณ์สภากาชาดไทยรูปแบบใหม่ ภายใต้สโลแกน “Volunteer for Lives”

 11 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.30 น. สภากาชาดไทยเปิดตัวตราสัญลักษณ์สภากาชาดไทยรูปแบบใหม่ ภายใต้สโลแกน Volunteer for Lives โดยมี ดร.เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องประชุม 1210 ชั้น 12 โซน B อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสภากาชาดไทย คณะกรรมการอำนวยการด้านการสื่อสารองค์กรสภากาชาดไทย เจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย อาสาสมัคร สื่อมวลชน เข้าร่วมงาน และนายกเหล่ากาชาดจังหวัด 76 จังหวัด เข้าร่วมงานผ่าน zoom ภายในงานมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กเพจ : Thai Red Cross Society และ Exclusive Talk จากผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์และศิลปินดาราจิตอาสา อาทิ Brand Exclusive Talk โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Volunteer for Lives ร่วมแชร์เรื่องราวของการเป็น “อาสาสมัคร” โดย พันตรี นายแพทย์สรวิชญ์ สุบุญ (หมอก้อง) คุณเต๋า ภูศิลป์ และคุณทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์

ดร.เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เปิดเผยว่า “กระบวนการพัฒนาโครงสร้างแบรนด์ใหม่ของสภากาชาดไทย ได้เริ่มขึ้นในปี 2563 และในที่ประชุมคณะกรรมการสภากาชาดไทย ครั้งที่ 341 วันที่ 4 มิถุนายน 2564 โดยมี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงเป็นประธานการประชุมฯ ได้มีมติอนุมัติให้สภากาชาดไทยใช้ระบบแบรนด์และตราสัญลักษณ์รูปแบบใหม่ โดยมีอาสาสมัครเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของสภากาชาดไทย ในการบรรเทาทุกข์ บำรุงสุข บำบัดโรค กำจัดภัย เพื่อสร้างการรับรู้ ความเชื่อมั่น ศรัทธา กระตุ้นการเป็นอาสาสมัครในสังคมไทยและเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และขอความร่วมมือให้ทุกคนในสภากาชาดไทยได้ใช้ระบบแบรนด์และตราสัญลักษณ์รูปแบบใหม่อย่างถูกต้องโดยพร้อมเพรียงกันตั้งแต่บัดนี้”

โดยตราสัญลักษณ์สภากาชาดไทยในแต่ละยุคนั้น ยุคแรกภายใต้ชื่อ "สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม" ขึ้น ในร.ศ.112 หรือพ.ศ. 2436 ภายหลังได้ปรับตราสัญลักษณ์ตามชื่อที่มีการเปลี่ยนแปลงตามชื่อประเทศ เป็น “สภากาชาดสยาม” ในพ.ศ. 2449 จากนั้นชื่อ”สภากาชาดสยาม” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สภากาชาดไทย” ในพ.ศ. 2482 และมีการปรับตราสัญลักษณ์ในพ.ศ. 2546 เป็นต้นมา และในพ.ศ. 2565 นี้ สภากาชาดไทยได้มีการปรับตราสัญลักษณ์อีกครั้ง และพัฒนาการสื่อสารแบรนด์ให้เป็นระบบ เพื่อดำรงและเพิ่มพูนคุณค่าของสภากาชาดไทยอย่างยั่งยืน

ดร.อภิชาติ ชินวรรโณ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และประธานคณะกรรมการอำนวยการด้านการสื่อสารองค์กรสภากาชาดไทย เปิดเผยว่า “นับตั้งแต่พ.ศ. 2560 ที่สภากาชาดไทยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการด้านการสื่อสารองค์กร สภากาชาดไทย ประกอบด้วย ผู้บริหาร  สภากาชาดไทย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านแบรนด์และสื่อสารองค์กรระดับชาติ มีหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และให้ข้อแนะนำในการดำเนินงาน ด้านสื่อสารองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจบทบาทของสภากาชาดไทย ซึ่งมีอาสาสมัครเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของสภากาชาดไทย ในพ.ศ. 2563 สภากาชาดไทยเริ่มกระบวนการพัฒนาโครงสร้างแบรนด์ใหม่อย่างเป็นระบบ และการประชุมคณะกรรมการสภากาชาดไทย ครั้งที่ 341 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 มีมติอนุมัติให้สภากาชาดไทยใช้ตราสัญลักษณ์รูปแบบใหม่ จึงนำมาสู่การจัดงานเปิดตัวตราสัญลักษณ์สภากาชาดไทยรูปแบบใหม่อย่างเป็นทางการในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อสื่อสารตราสัญลักษณ์สภากาชาดไทยรูปแบบใหม่ไปยังเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประชาคมสภากาชาดไทย ให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง และหลังจากนี้ จะมีการพัฒนาตราสัญลักษณ์ของทุกหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามคณะกรรมการด้านการสื่อสารองค์กร สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า “การพัฒนาแบรนด์และตราสัญลักษณ์ใหม่ของสภากาชาดไทยมีกระบวนการที่รัดกุมและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทยที่ได้ร่วมแรงร่วมใจ ร่วมคิด และร่วมทำมาด้วยกันตลอดมากกว่าสองปี ระบบแบรนด์และตราสัญลักษณ์ใหม่ของสภากาชาดไทยจึงเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งถึงความรักสามัคคีกลมเกลียวของชาวสภากาชาดไทยที่จะดำรงคุณค่าตามหลักกาชาดสากล เพื่อดูแลสังคมไทยอย่างเต็มที่ดังเช่นที่เป็นมาให้ต่อเนื่องไปไม่หยุดยั้ง”

129 ปี สภากาชาดไทยยังคงดำเนินตามพันธกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ การบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย การบรรเทาทุกข์ การบริการโลหิต และการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นพันธกิจที่สำคัญยิ่ง ที่พร้อมช่วยเหลือประชาชนในทุกวิกฤติ ยืนหยัดตามหลักการกาชาดสากล 7 ประการ ในฐานะองค์กรการกุศลระดับชาติ เพื่อผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส

ความคิดเห็น