มูลนิธิโครงการหลวง และ สวพส. เปิดงานสัมมนา ประจำปี’65 เพื่อขยายผลองค์ความรู้โครงการหลวงไปสู่นานาประเทศ

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาบนพื้นที่สูงกับนานาชาติ “International Seminar on Sustainable Highland Development (ISSHD) Responding to Challenges Beyond The New Normal” (เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565) ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ และผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ (Web conference) พร้อมด้วย นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากการเข้าร่วมประชุม CND65 และเผยแพร่และขยายองค์ความรู้การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางของมูลนิธิโครงการหลวง (Royal Project Model) ซึ่งถือเป็นรูปแบบการปฏิบัติงานที่ดี (Best Practice) ในการพัฒนาแบบองค์รวมอย่างครบวงจร จากประสบการณ์มากกว่า 50 ปี ไปสู่ประเทศและองค์กรอื่น ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น 
พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี กล่าวว่า สาระสำคัญของการสัมมมาในครั้งนี้ มุ่งนำเสนอรูปแบบการปฏิบัติงานที่ดี (Best Practice) ของการพัฒนาพื้นที่สูงตามแนวทางโครงการหลวง (Royal Project Model) ในมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผลสำเร็จของการขยายผลองค์ความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่สูงตามแนวทางโครงการหลวง และเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาบนพื้นที่สูงกับสถานการณ์การโรคระบาด และความท้าทายของชีวิตวิถีใหม่ร่วมกับผู้เข้าร่วมสัมมนาจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นที่สูงของภูมิภาคและของโลกเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของสหประชาชาติ

เชียงใหม่ - 20 กรกฎาคม 2565 - นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาพื้นที่สูงโดยถ่ายทอดตัวอย่างความสำเร็จจากเกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กับผู้เข้าร่วมสัมมนาจากต่างประเทศ อาทิ UNODC จาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อัฟกานิสถาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เปรู เนปาล ราชอาณาจักรภูฏาน ไต้หวัน นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก Mr. Thierry Rostan, Chief, Sustainable Livelihoods Unit, UNODC มาบรรยายในหัวข้อ UNODC alternative development policies to cope with the new normal and the way forward towards the Sustainable Development Goals อีกด้วย

การจัดสัมมนาระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2565 มุ่งหวังให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อเป็นรูปแบบการปฎิบัติงานที่ดี (Best Practice) รองรับการเปลี่ยนแปลง ปัญหา และความท้าทายในปัจจุบัน และเพื่อสร้างสรรค์รูปแบบและบทเรียนในการพัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวง (Royal Project Model) สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมี สวพส. ทำหน้าที่รับและนำองค์ความรู้ไปขยายผลในพื้นที่สูงอื่น ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ 

โครงการหลวงโมเดล เป็นการพัฒนาจากจุดเล็ก ๆ สู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ จากประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลา 50 ปี ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ปัญหาความยากจนจากการปลูกพืชเสพติด การทำเกษตรแบบเลื่อนลอย และการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานจะ สืบสาน รักษา และต่อยอด โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงานอย่างเข้าใจ เข้าถึง ทำให้บรรลุผลสำเร็จสูงสุดในการพัฒนาพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน ครอบคลุมในทุกมิติ จากพื้นที่พัฒนาโครงการหลวง 39 แห่ง ไปสู่โครงการขยายผลแบบโครงการหลวง 44 แห่ง และต่อยอดในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ แนวทางของโครงการหลวงยังสนับสนุนตามเป้าหมาย BCG Model ของประเทศไทย และการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ของสหประชาชาติ

การสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครั้งนี้ มีตัวแทนจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ อำเภอแม่แจ่ม และ ชุมชนเกษตรอินทรีย์ บ้านเมืองอาง ของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มาเล่าประสบการณ์ของการพลิกฟื้นพื้นที่สูงจากระบบเกษตรเดิมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม มาสู่ระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนแปลงความยากจนจากอาชีพปลูกฝิ่น ทำไร่หมุนเวียน มาเป็นการปลูกพืชเขตหนาวที่สร้างอาชีพบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ การใช้องค์ความรู้และหลักวิชาการที่เหมาะสม การสร้างจิตสำนึก และการส่งเสริมความเข้มแข็งของคนในชุมชนจึงเป็นพื้นฐานสำคัญ โครงการหลวงตั้งเป้าหมายการพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว คือ การเกษตรปลอดภัย ก้าวสู่การสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชน และส่งเสริมสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ

นับว่าเป็นแนวการปฏิบัติจากบทเรียนที่ดี (Best Practice) และเป็นไปตามแนวทางพัฒนาอย่างบูรณาการตามรูปแบบโครงการหลวง ภายใต้หลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มิได้เป็นเพียงแค่การพัฒนา ที่มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ก่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยปรับเปลี่ยนเป็นข้อได้เปรียบในบริบทของพื้นที่สูงจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโตแข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป 


ความคิดเห็น