เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดดำเนินกิจการสถานธนานุเคราะห์ที่ 42 ตั้งที่ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี (โรงรับจำนำของรัฐ) โดยมีนายประสงค์ พันธ์ลิมา ผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ ในนามผู้ดำเนินการจัดตั้ง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ “การจัดตั้งสถานธนานุเคราะห์ตำบลท่าพี่เลี้ยง โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีนโยบายช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ที่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินในระยะสั้น โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูง เพื่อให้ประชาชนมีเงินทุนหมุนเวียนนำไปลงทุนประกอบอาชีพ รวมทั้งใช้จ่ายทางการศึกษาของบุตร หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สถานธนานุเคราะห์ (สธค.) หรือโรงรับจำนำของรัฐ เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำหน้าที่เป็นกลไกในการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อรับจำนำในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และตรึงระดับอัตราดอกเบี้ยไม่ให้โรงรับจำนำเอกชนเรียกค่าบริการสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยการให้บริการของ สธค. ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขจัดความเดือนร้อนในด้านการเงินของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงินเฉพาะหน้า
ปัจจุบัน สธค. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 67 เปิดสถานธนานุเคราะห์ 42 แห่ง แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพมหานคร 29 แห่ง และปริมณฑล จำนวน 4 แห่ง ได้แก่จังหวัด นนทบุรี, ปทุมธานี , สมุทรปราการ ส่วนภูมิภาค 9 แห่ง ได้แก่ จังหวัดระยอง 2 แห่ง ลำพูน 1 แห่ง สุราษฏร์ธานี 1 แห่ง จังหวัดอุดรธานี 1 แห่ง จังหวัดพิษณุโลก 1 แห่ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง จังหวัดชลบุรี 1 แห่ง และสุพรรณบุรี 1แห่ง
ภายใต้วิสัยทัศน์ "เป็นองค์กรชั้นนำ ด้านการบริการรับจำนำ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และ ยึดหลักธรรมาภิบาล” โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 42 สาขาทั่วประเทศ รวมสาขาจังหวัดสุพรรณบุรี ที่กำหนดจัดพิธีเปิดอย่างทางการในวันนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชน ผู้มีรายได้น้อยและผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าทางการเงิน อีกทั้งการแก้ไขความยากจนของประชาชน โดยสามารถนำสิ่งของมาจำนำ และเสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับ การบริการทางสังคมที่จำเป็นแก่การดำรงชีพทั้งนี้ สธค. ได้จัดทำแผนขยายสาขาการให้บริการในพื้นที่ส่วนภูมิภาคอย่างครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของจังหวัดสุพรรณบุรีว่า มีประชากรหนาแน่น มีความต้องการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาครัฐเป็นจำนวนมาก และเป็นแหล่งธุรกิจสำคัญนั้น จึงได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่นี้ เพื่อจัดตั้งสถานธนานุเคราะห์ สาขาที่ 42 เพื่อรองรับความต้องการประชาชน
ด้านนายประสงค์ พันธ์ลิมา ผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ กล่าวว่า สธค. มีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ดังนี้ 1) เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาทคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 บาท ต่อเดือน 2) เงินต้น 5,001 - 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 บาท ต่อเดือน 3) เงินต้น 10,001 - 20,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 บาทต่อเดือน และ 4) เงินต้น 20,001 - 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน ซึ่ง สธค. ได้คิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดในธุรกิจโรงรับจำนำ เพียงร้อยละ 25 สตางค์ต่อเดือน (วงเงินไม่เกิน 5,000 บาท) อีกทั้ง ยังมีนโยบายอัตราการรับจำนำทรัพย์ประเภททอง นาก เงิน และรูปพรรณ โดยรับจำนำไม่เกินร้อยละ 87.5 ของราคาทองรูปพรรณในท้องตลาด ซึ่งให้ราคารับจำนำที่สูงขึ้นกว่าเดิม
"การคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำของ สธค. นับว่าเป็นการช่วยเหลืออย่างแท้จริง สำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงินเฉพาะหน้า โดยได้มีการปรับภาพลักษณ์เปลี่ยนโฉมการบริการใหม่ ตั้งแต่ภาพลักษณ์ภายนอกด้านอาคารสถานที่ที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น คล้ายคลึงสถาบันการเงินต่างๆ และการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ด้วยการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว และมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน”
ติดตามข่าวสาร สธค. ได้ที่ www.pawn.co.th / LINE : @ppo.pawn
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น