ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน 2565 การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งที่ 2

กรุงเทพมหานครฯ, ประเทศไทย  – องค์กรทั้งในและนานาชาติต่างร่วมกันใจกลางกรุงเทพมหานครฯ ระหว่างวันที่ 19 ถึง 20 ตุลาคม สำหรับ การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งที่ 2: ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน ซึ่งจัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานเพื่อการศึกษาส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ยูเนสโก กรุงเทพฯ), สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของยูนิเซฟ (UNICEF EAPRO), ยูนิเซฟ ประเทศไทย, องค์การรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO), มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย),มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และกระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งเน้นที่การจัดการกับความอุปสรรคหลายประการด้านการศึกษา

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การเร่งฟื้นฟูเด็กและเยาวชนกลับสู่ภาวะปกติ จนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วยแนวทาง All for Education ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 2022 ความรู้และประสบการณ์จากการประชุมจะช่วยให้แต่ละประเทศเกิดแผนฟื้นฟูและพัฒนาเด็กที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เกิดการลงทุนเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืนในระยะยาว และเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดภาวะ ‘Lost Generation’ ซึ่งจะเป็นความสูญเสียที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมไทย และสังคมโลกอย่างมหาศาล

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ช่องว่างความเสมอภาคทางการศึกษาชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคด้านทักษะทางดิจิทัลและความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล สภาวะเศรษฐกิจของครอบครัว และการดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านการศึกษา วิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มเด็กเปราะบางเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ขณะที่เด็กทั่วไปก็เผชิญกับความเสี่ยงของภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) ดังนั้น การมีแผนเพื่อฟื้นฟูการเรียนการสอนภายหลังการระบาด และการสรุปบทเรียนเพื่อเรียนรู้จากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเพื่อลดวิกฤต ‘Lost Generation’ ที่กำลังเกิดขึ้น

ตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนแนวทางการทำงาน และการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้บรรดาพันธมิตรได้นำไปปรับใช้เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในพื้นที่ของตนเอง โดยรวมเห็นตรงกันว่าให้มุ่งสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ เรื่องที่ทุกประเทศต้องดำเนินการเร่งด่วนในเวลานี้คือการเปิดโรงเรียน การฟื้นฟูการศึกษา สร้างการศึกษาที่ต่อเนื่องเพื่อทุกคน และการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและระบบการศึกษา เพื่อป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และพัฒนาระบบการศึกษาบนพื้นฐานที่ต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง นอกจากนั้นยังสนับสนุนการศึกษาในวัยผู้ใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเน้นย้ำว่ากลุ่มการศึกษานอกโรงเรียนเป็นกลุ่มใหญ่มีประชากรจำนวนมากจึงต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กลุ่มการศึกษาในระบบ

Ms Rika Yorozu (คุณริกะ โยโรซุ) หัวหน้าสำนักงานบริหารและผู้ประสานงานโครงการระดับภูมิภาค ยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า ในระดับภูมิภาค ยูเนสโก กรุงเทพฯ จะสนับสนุนการปฏิบัติงานตามถ้อยแถลงความมุ่งมั่นในระดับประเทศหลัง APREMC II และ TES ยูเนสโก กรุงเทพฯ จะยังคงทำโครงการความคิดริเริ่มต่าง ๆ เพื่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในภูมิภาค รวมถึงในไทย เรามีความมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการของเครือข่ายพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equitable Education Alliance) ซึ่งเป็นเครือข่ายของผู้ปฏิบัติงานด้านความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับ กสศ. และภาคีสมาชิกใหม่ที่อาจมาเข้าร่วมหลังการประชุมครั้งนี้

ดร. เอเทล แอ็กเนส ปาสกวา-วาเลนซุเอลา ผู้อำนวยการ SEAMEO ซึ่งได้เข้าร่วม TES ได้แบ่งปันประเด็นหารือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมครั้งนี้ว่า ปฏิญญาของเยาวชน ถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ และความคิดริเริ่มในระดับโลกที่นำเสนอกันที่ TES สามารถนำมาใช้ต่อยอดในการประชุมของเราในครั้งนี้ได้ ซึ่งมุ่งสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจากหลากประสบการณ์และบริบท ด้วยความหวังว่าสิ่งเหล่านี้และการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนจะทำให้เราสามารถพลิกโฉมการศึกษาได้และทำให้ระบบการศึกษาครอบคลุมและเสมอภาคมากกว่าที่เป็นมา

Ms. Kyungsun Kim (คุณ คยองซอน คิม) ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand) กล่าวว่า เราจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ที่หายไปตั้งแต่ก่อนและระหว่างการระบาดของโควิด-19 การทำงานและประสานงานร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็นของช่วงเวลานี้ ทั่วโลกเพิ่งเริ่มเข้าใจถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 และข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มีต่อเด็ก และการเรียนรู้ของพวกเขา เด็กอายุ 10 ปีจากประเทศยากจนและรายได้ปานกลางไม่สามารถอ่านหนังสือหรือเข้าใจเรื่องราวง่ายๆ ได้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53 เป็นร้อยละ 70 ซึ่งเป็นทักษะขั้นพื้นฐานจำเป็น จึงบั่นทอนโอกาสที่เด็กคนนั้นจะได้รับการพัฒนาจนเต็มศักยภาพ ทำให้ไม่มีทางเลือกมากนัก และบีบให้ต้องจำยอมตกเป็นเบี้ยล่างและการเอารัดเอาเปรียบของสังคม เช่น หากเป็นเด็กหญิงก็ต้องถูกบีบบังคับให้แต่งงานก่อนวัยอันควร กลายเป็นคุณแม่วัยใสที่ยังไม่พร้อม หรือหากเป็นเด็กชายก็กลายเป็นแรงงานเด็กราคาถูก

ผลการศึกษาล่าสุดที่เปิดเผยที่ทางธนาคารโลกจัดทำร่วมกับยูเนสโก, ยูนิเซฟ, กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร (UK government Foreign Commonwealth and Development Office -FCDO), USAID และ มูลนิธิบิลล์ แอนด์ เมลินดา เกตส์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า อัตราความอ่อนด้อยทางการเรียนรู้ของเด็กเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ในประเทศที่มีการเรียนออนไลน์มาใช้ ส่งผลให้เด็กนักเรียนรุ่นนี้ มีแนวโน้มสูญเสียรายได้ที่ควรจะหาได้จากช่วงชีวิตของตอนถึง 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเทียบเท่าร้อยละ 17 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลกในปัจจุบัน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และยูเนสโก กรุงเทพ ฯ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งที่ 5 ภายใต้การหาแนวทางส่งเสริมกิจกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (The 5th Meeting of Equitable Education Alliance : Identify Opportunities for EEA Activities) ซึ่งมีผู้แทนจาก 10 องค์กร ใน 12 ประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาไปพร้อม ๆ กัน กสศ. ยังคงมุ่งมั่นที่จะให้การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมเข้าถึงได้สำหรับทุกคน 

ความคิดเห็น