“สหพันธ์ผู้นำเข้าเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง” ร้องพาณิชย์ทบทวนเอดี หลังใช้มานาน 20 ปี

สหพันธ์ผู้นำเข้าเหล็กฯ เข้ายื่นหนังสือถึงกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  ที่ต่ออายุมาเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ส่อขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย เอื้อกลุ่มทุนข้ามชาติ ให้ทบทวนเอดีในสินค้าเหล็ก มองว่าใช้มานาน 20 ปีแล้ว อุตสาหกรรมในประเทศสามารถแข่งขันได้แล้ว

วันที่ 9 มีนาคม 2566 นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง ประธานสหพันธ์ผู้นำเข้าเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ตนเป็นตัวแทนผู้ประกอบการมายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อ “ขอให้ทบทวนแนวทางการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-dumping : AD) หรือเอดี ซึ่งสินค้าจากต่างประเทศสินค้าประเภทเหล็ก”

โดยให้ยุติการใช้มาตรการทั้งหมด หรือลดขอบเขตลงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตหลังคาเหล็ก เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าที่ดีมีคุณภาพ มีการแข่งขันที่เป็นธรรม สามารถเลือกใช้สินค้าจากต่างประเทศได้ โดยมีนางสาวจิตติมา ศรีถาพร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้มารับหนังสือ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สินค้าเหล็กหลายรายการ มีการบังคับใช้มาตรการ เอ-ดี และต่ออายุนานเกินระยะเวลาปกติตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว โดยเฉพาะเหล็กกล้าไร้สนิมรีดเย็น และเหล็กแผ่นรีดร้อน ที่บังคับใช้มาประมาณ 20 ปีแล้ว จึงมองว่านานพอที่อุตสาหกรรมภายในจะได้ปรับตัว และพัฒนาให้สามารถแข่งขันได้แล้ว

จากที่กังวลว่าจะกระทบอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์นั้น ข้อเท็จจริง ตัวถังรถยนต์ ไม่ได้ใช้แผ่นเหล็กที่ผลิตในประเทศ รวมทั้งเครื่องยนต์และอุปกรณ์สำคัญหลายส่วน ยังจำเป็นต้องพึ่งพานำเข้า มีเพียงส่วนประกอบย่อย เช่น ขาเบรก หรือบานพับ และอื่น ๆ ที่ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศเท่านั้น”

ส่วนที่มีการอ้างว่าไทยควรบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆอาทิ สหรัฐอเมริกา เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็ก มีความสำคัญเชื่อมโยงกับความมั่นคงของประเทศนั้น ย้ำว่า ประเทศที่บังคับใช้มาตรการฯนี้ล้วนมีทั้งสินแร่เหล็ก ถ่านหิน เป็นประเทศอุตสาหกรรมหนักชั้นนำของโลก มีโรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ขนาดใหญ่ มีความพร้อมทั้งเทคโนโลยีและกำลังคน ซึ่งแตกต่างจากไทย ที่ไม่มีสินแร่เหล็ก ถ่านหิน แต่เป็นโรงเหล็กขั้นปลายน้ำเท่านั้น

นายพันธนวุฒิกล่าวว่า สำหรับการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริม ผู้ประกอบอุตสาหกรรมภายในประเทศนั้น สามารถดำเนินการได้ด้วยมาตรการอื่นได้ เช่น การส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand: MIT) มากขึ้น การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาคุณภาพสินค้า การส่งเสริมให้โรงงานในประเทศผลิตเหล็กเกรดพิเศษให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค การส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างการผลิตที่ครบวงจร การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในภาคอุตสาหกรรมหนักเพื่อช่วยลดตันทุนการผลิตเหล่านี้ จะเป็นมาตรการในเชิงบวก และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่า

กรณีที่ผู้ผลิตเหล็กในประเทศ ไปร้องให้พิจารณาออกมาตรการเอ-ดี จากต่างประเทศ เพราะขายในราคาถูกกว่า และคุณภาพไม่ได้มาตรฐานนั้น เสนอให้ภาครัฐออกมาตรฐานอุตสาหกรรมบังคับ โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. จะเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า สินค้าที่มีการอ้างว่า ทุ่มตลาดเข้ามาในไทยไม่มีคุณภาพจริงหรือไม่ รวมถึงราคาเหล็กในประเทศ ทำไมจึงสูงกว่าต่างประเทศ ตามที่อ้างกันว่าราคาจากประเทศต้นทางสูง

แต่มาขายในไทยต่ำกว่า ที่จะต้องหาข้อเท็จจริงตรงนี้ด้วย ซึ่งการใช้มาตรการ AD ก็เหมือนกับการผลักภาระให้ผู้บริโภค ซึ่งก่อนหน้านี้ เพิ่งมีการออกมาตรการ AD นำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบอะลูมิเนียมผสมสังกะสีทาสี (PPGL) จากจีน สูงถึง 40.77% ทำให้ผู้ผลิตอุตสาหกรรมในประเทศสู้ราคาไม่ไหว จึงไม่มีการนำเข้ามาแล้ว

ด้านนายชวลิต กาญจนาคาร ประธานสมาพันธ์ผู้บริโภคหลังคาเหล็กไทย กล่าวว่า ทำไมคนไทยต้องใช้ของแพง จากการตั้งภาษี AD ที่สูง ทำให้โรงงานไม่กล้าสั่งเหล็กมาผลิต ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ยอดขายหายไป 50% ซึ่งกระทบกับโรงงานผลิตหลังคาในประเทศที่อาจจะอยู่ไม่รอด กว่า 1,800 โรงงาน มีแรงงานประมาณ 10 คนเป็นอย่างน้อย ดังนั้นควรเปิดให้เป็นการค้าเสรี

แม้อุตสาหกรรมภายในจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องปกป้อง แต่หลายรายเป็นกลุ่มทุนข้ามชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจเพื่อหารายได้จากราชอาณาจักรไทย แต่ผู้ใช้เหล็กซึ่งเป็น SMEs และผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ดังนั้น การพิจารณาและตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐไทย จึงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของ SMEs และประชาชนชาวไทย 


ความคิดเห็น