“ทีเส็บ” จับมือ “มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล” ยกระดับมาตรฐาน “ไมซ์ ฟอร์ ออล” สู่เมืองไมซ์โลกอย่างยั่งยืน

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุม และนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ยกระดับความมั่นใจด้านมาตรฐาน รองรับการกลับมาของนักธุรกิจกลุ่มไมซ์ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่สอดคล้องการยกระดับด้านการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อสร้างความได้เปรียบและการแข่งขันให้แก่ประเทศไทยในอนาคตอย่างยั่งยืน การจัดงานครั้งนี้เพื่อมอบตราสัญลักษณ์มาตรฐาน ภายใต้งาน MICE Standards Day 2023 ให้กับผู้ประกอบการไมซ์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ณ อาคาร CW Tower รัชดา
ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุม และนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า “ทีเส็บ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนามาตรฐาน ไม่เพียงแต่มาตรฐานสถานที่การจัดงาน มาตรฐานด้านการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืน และมาตรฐานอาชีพของบุคลากรไมซ์ ทั้ง 3 มาตรฐานคือสิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนไมซ์ไทย สู่การเป็น MICE Destination สามารถยกระดับการบริการอย่างมืออาชีพให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมั่นใจ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย 

“สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เชื่อมโยงไปยังยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในประเด็นของการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การทำมาตรฐานถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเป็นกลไลขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและจุดหมายปลายทางของการจัดงานประชุมและนิทรรศการนานาชาติของโลก ที่เน้นคุณภาพและตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ประธานฯทึเส็บกล่าว

งาน MICE Standards Day 2023 ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 ในปีนี้ ทีเส็บ ยังได้ร่วมมือกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวลจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและนิทรรศการที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล หรือ Friendly Design Guide Book เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับคนทุกกลุ่มวัย และทุกสภาพร่างกาย สู่เป้าหมาย “ไมซ์ ฟอร์ ออล” หรือเมืองไมซ์เพื่อคนทั้งมวล

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า “เรามองไปถึงเรื่องของการยกระดับมาตรฐานสถานที่จัดงานเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนทั้งมวล หรือเรียกว่า MICE for All โดยร่วมกับ มูลนิธิสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ในการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและนิทรรศการที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล หรือ Friendly Design Guide Book เพื่อส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมาตรฐานสากล ทุกคนใช้ได้ ทุกวัยใช้ดี สะดวก ทันสมัย ปลอดภัย ด้วยหลักคิดที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล 

“สอดคล้องกับเป้าหมายสากลว่าด้วยเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยปีนี้ทีเส็บ ได้พัฒนาส่งเสริมให้สถานที่การจัดงานที่ได้มาตรฐาน เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายใต้แนวคิด TMVS Plus for All เน้นย้ำการบริหารสถานที่การจัดงานทั้งส่วนของกายภาพ เทคโนโลยี และการบริการ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นมิตรกับคนทั้งมวล” ผอ.ทีเส็บ กล่าว

นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กล่าวเสริมว่า “ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2564 เป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ โดยประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนกว่า 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และอีก 20 ปีข้างหน้า ในปี 2583 คาดว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุจำนวน 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีคนพิการมากกว่า 2 ล้านคน อีกทั้งกลุ่มผู้ป่วย ผู้ป่วยพักฟื้น หรือผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง ผู้ที่ใช้รถเข็น รวมถึงสตรีมีครรภ์ (ปีละ 5 ล้านคน)  และเด็กทารก/เด็กเล็ก (ปีละ 2.6 ล้านคน)  ซึ่งคนกลุ่มนี้ล้วนต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตมากกว่าคนปกติทั่วไป  แต่ส่วนใหญ่มักไม่ได้รับความสะดวก ปลอดภัย และความเท่าเทียม ในการเข้าถึงตึกอาคาร สถานที่ ห้องสุขา รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะ และบริการต่างๆ 

“ดังนั้น ความร่วมมือกับ ทีเส็บในครั้งนี้ จะเอื้อประโยชน์ต่อการดึงงานการประชุม งานแสดงสินค้า และงานอีเวนต์ของกลุ่มคนทั้งมวลมายังประเทศไทยมากขึ้น หากสถานที่การจัดงานมีความพร้อมด้านมาตรฐานดังกล่าวตามแนวทางคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและนิทรรศการที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล หรือ Friendly Design Guide Book ซึ่งคู่มือนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้”

 กิจกรรมภายในงาน MICE Standards Day 2023 ในปีนี้ องค์กรและหน่วยงานที่เข้ารับตราสัญลักษณ์มาตรฐานของอุตสาหกรรมไมซ์ รวม 170 แห่ง ซึ่งเป็นทั้งการต่ออายุตราสัญลักษณ์และการมอบตราสัญลักษณ์มาตรฐานแก่ผู้ประกอบการใหม่ ผู้รับตรามาตรฐานดังกล่าวอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงไมซ์ซิตี้ทั้ง 10 จังหวัด การจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความตระหนักในวงกว้างเกี่ยวกับความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ต่อพัฒนาการของประเทศ ตลอดจนศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้ดีในอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นชาติ “ผู้นำไมซ์ของโลก” ได้ในที่สุดต่อไป



ความคิดเห็น