สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ดำเนินงานในพื้นที่สูงส่วนใหญ่ของประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์การป้องกันไฟป่าและลดการเผาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2566 สวพส. ได้รณรงค์การป้องกันไฟป่าและจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ดำเนินงาน ชิงเก็บเศษไม้ เศษวัชพืชก่อนเผา นำเศษพืชจากการเกษตรมาทำเป็นปุ๋ยหมัก จัดทำฝายชะลอน้ำและแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า แต่ด้วยปัญหาหมอกควันที่รุนแรงและกินระยะเวลายาวนานในปีนี้ สวพส. จึงร่วมกับ อปท. 44 พื้นที่ ภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และกาญจนบุรี ได้เร่งการป้องกันไฟป่าและลดการเผาอย่างเข้มข้น ครอบคลุมพื้นที่ทำกินและพื้นที่ป่า 1,203,426 ไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประวัติการเกิด Hotspot เน้นย้ำให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ลดการเผา ร่วมกันจัดทำแนวกันไฟ
อย่างไรก็ตาม นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผอ. สวพส.ได้ให้แนวทางว่า ปัญหาหมอกควันและไฟป่า บนพื้นที่สูงเกิดจากปัญหาความยากจนของเกษตรกร การขาดความรู้ทำการเกษตรที่ถูกต้อง และการเพิ่มจำนวนของประชากรบนพื้นที่สูง ดังนั้น สวพส.จึงนำองค์ความรู้ของโครงการหลวงมาขยายต่อเพื่อสร้างอาชีพและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ด้วยการปรับระบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการใช้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำและเทคโนโลยีที่เหมาะสม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุม ดูแล บำรุงรักษาและพัฒนาป่า ขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยการใช้แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงเป็นเครื่องมือในการกำหนดขอบเขตที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ป่า ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหมอกควันในระยะยาว ซึ่งในระยะที่ผ่านมา สวพส. ได้ทำการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานเปลี่ยนระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว คือ การปลูกข้าว ข้าวโพด และปลูกผัก ที่ต้องการใช้พื้นที่จำนวนมาก มีการบุกรุก แผ้วถางป่า เผาป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ทำกิน ใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่เข้มข้นในปริมาณมาก มาสู่ระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน ทำเกษตรแบบประณีตภายใต้ระบบเกษตรปลอดภัย (GAP) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกผักในโรงเรือน การทำปศุสัตว์เพื่อบริโภค การปลูกไม้ผลที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งใช้พื้นที่น้อยแต่สามารถสร้างรายได้เพียงพอเพื่อเลี้ยงชีพได้ เป็นการป้องกันให้คนบุกรุกพื้นที่ป่าเผาป่า เผาเศษพืชน้อยลง ทำให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประชาชนหรือหน่วยงานที่สนใจ สามารถเข้าศึกษาดูงานการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ที่ศูนย์โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ทั้ง 44 แห่ง โดยเฉพาะศูนย์ที่สามารถเป็นต้นแบบในการลดการเผา เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม อ.แม่จริม จ. น่าน ที่คว้ารางวัลเลิศรัฐ สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ปี 2562 ด้วยผลงาน “ชุมชนลดการเผาด้วยวิถีเกษตรตามแนวทางโครงการหลวง” โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น ปี 2563 จากผลงาน “คู่วิถีคนอยู่ร่วมกับป่า ลดพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน” โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงถ้ำเวียงแก อ.สองแคว จ.น่าน ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ปี 2565 ผลงาน “พัฒนาอาชีพแก้จน ลดเขาหัวโล้นเมืองน่าน”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น