นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบการนำเข้าเนื้อสัตว์ ซึ่งประกอบด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนกรมศุลกากร โดยท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากรมีมาตรการในการควบคุมอย่างเคร่งครัดในการเข้มงวด กวดขันการลักลอบ/หลีกเลี่ยง นำเข้าเนื้อสุกร เนื้อโค เนื้อกระบือ จากต่างประเทศในทุกช่องทาง
นอกจากนี้ยังให้เร่งรัดติดตามการดำเนินคดี/ยึดทรัพย์ ผู้กระทำความผิดและผู้สนับสนุนการกระทำความผิด และหากมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการทั้งในด้านวินัยและคดีอาญาให้ถึงที่สุด โดยตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อเร่งรัด และตรวจสอบการดำเนินการในเรื่องนี้ขึ้นโดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ในส่วนของกรมศุลกากร ภายหลังได้รับนโยบายจากท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน สั่งการให้ทุกสำนักงาน/ด่านศุลกากร และกองสืบสวนสวนและปราบปราม ให้เข้มงวดและพร้อมเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสินค้าที่มีความเสี่ยงซึ่งอาจมีการสำแดงข้อมูลเป็นเท็จ โดยการสำแดงชนิดสินค้าเป็นสินค้าอื่นเพื่อลักลอบ/หลีกเลี่ยง นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร อีกทั้งให้เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าผ่านทางช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนอีกด้วย ทั้งนี้ได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ กรมศุลกากรได้มีมาตรการในการควบคุมการลักลอบ/หลีกเลี่ยง การนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสัตว์จากต่างประเทศ โดยเพิ่มการตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าสินค้าล่วงหน้าจากบัญชีสินค้า (Manifest) (Manifest คือ บัญชีสินค้านำเข้าที่ผู้รับขนส่งยื่นต่อศุลกากร
เพื่อแสดงรายละเอียดของที่รับบรรทุก) เพื่อป้องกันการสำแดงข้อมูลในใบขนสินค้าไม่ตรงกับความเป็นจริง และเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจปล่อยสินค้าประเภทตู้แช่เย็น สินค้าเกษตร ทุกชนิด ทุกรายการ ทุกใบขนสินค้าโดยให้มีการเปิดตรวจและ/หรือเอกซเรย์ทุกตู้คอนเทนเนอร์ หากพบว่าผู้นำเข้ารายใดมีการลักลอบ/หลีกเลี่ยง นำเข้าเนื้อสุกร เนื้อโค เนื้อกระบือ จากต่างประเทศในทุกช่องทาง จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทำการจับกุมเเละดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน
โดยไม่ยินยอมให้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดยกรมศุลกากรสนับสนุนการดำเนินการของพนักงานสอบสวนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมตรวจสอบ หากผู้ประกอบการใดถูกดำเนินคดีฯ ทางกรมศุลกากรจะพิจาณาระงับการปฏิบัติพิธีศุลกากรทันที
ในส่วนของความคืบหน้าในการดำเนินการทำลายชิ้นส่วนสุกร จำนวน 161 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบังนั้น หลังจากที่กรมศุลกากรส่งมอบตู้สินค้าประเภทซากสุกรของตกค้างและของกลางในคดีพิเศษ ที่ 59/2566 จำนวน 161 ตู้ ไปทำลายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 แล้ว กรมศุลกากรให้ความร่วมมือและประสานงานร่วมกับ DSI และกรมปศุสัตว์ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ จนกว่าการทำลายของกลางฯ จะสิ้นสุดลง สำหรับเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ กรมศุลกากรได้มีการดำเนินการลงโทษทางวินัยเรียบร้อยแล้ว
สำหรับ สถิติการจับกุมกรณีลักลอบและหลีกเลี่ยงศุลกากร กรณี เนื้อสุกรและส่วนอื่นที่บริโภคได้ของสุกร ในปีงบประมาณ 2564 มีการจับกุม 14 ราย น้ำหนัก 236,177 กิโลกรัม ปีงบประมาณ 2565 มีการจับกุม 25 ราย น้ำหนัก 431,660 กิโลกรัม และปีงบประมาณ 2566 มีการจับกุม 181 ราย น้ำหนัก 4,772,073 กิโลกรัม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น