สุขภาพดีเริ่มได้ทุกมื้ออาหาร สสส. ชวนคนไทยบริโภคอย่างสมดุล

สสส. -ภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม World Food Day 2023 ชวนหนุ่มสาวออฟฟิศย่านพระราม 4 บริโภคอย่างไรให้อร่อยและได้สุขภาพดี พร้อมเปิดเวทีเสวนา ชวนกูรูมาร่วมไขข้อข้องใจและชี้แนะแนวทางหุ่นดีแบบไม่ทำร้ายร่างกาย

​องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และประเทศสมาชิก รวมทั้งประเทศไทย ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันอาหารโลก” (World food day)  เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาในการจัดการและการกระจายอาหาร เพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน และร่วมมือกันแก้ปัญหาวิกฤตอาหาร ความอดอยาก หิวโหยและทุพโภชนาการ โดยปีนี้ แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมวันอาหารโลก (World Food Day 2023) ณ สวนเพลินมาร์เก็ต ถนนพระราม 4  ในหัวข้อ “อาหารสมดุลเพื่อสุขภาวะ Healthy Balanced Diet” มิติใหม่ของการทานอาหารให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวเปิดงาน World Food Day 2023ว่า ในอดีตประเทศไทยเคยมีปัญหาเรื่องประชากรโดยเฉพาะในวัยเด็กมักขาดสารอาหาร แต่ปัจจุบันกลับเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคที่มากเกินไป สาเหตุมาจากวิถีชีวิตแบบใหม่โดยเฉพาะช่วงโควิด ขณะที่ประเทศอื่นประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนอาหารแต่ไทยไม่มีปัญหาเรื่องนี้ กลับมีการบริโภคมากขึ้นกว่าเดิมจนทำให้คนไทยเป็นโรคในกลุ่ม NCDs เพิ่มมากขึ้น โรคกลุ่มนี้มีสาเหตุมาจากบุหรี่ เหล้า อาหาร มลภาวะ การไม่ขยับร่างกาย รวมถึงการนอน คนไทยจึงป่วยเป็นโรคไม่ติดต่ออย่าง โรคเบาหวาน ไขมัน ความดันมากขึ้น

​“องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคผักเฉลี่ยวันละ 400 กรัม รับประทานเนื้อสัตว์เพื่อนำโปรตีนไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งความจริงแล้วหากแบ่งกินในแต่ละมื้อให้ครบในหนึ่งวันนั้น ไม่ใช่ปริมาณที่มากเลย ที่น่าห่วงอีกอย่างก็คือเรื่องหวาน ทั้งขนม อาหาร เครื่องดื่ม สถิติคนไทยบริโภคน้ำตาลต่อวันถึง 24 ช้อนชา แต่องค์การอนามัยโลกระบุให้บริโภคไม่เกิน 6 ช้อนชาเท่านั้น วันนี้กระแสรักสุขภาพทำให้เกิดคำสร้อยอย่างไม่หวานต่อท้าย เวลาสั่งเครื่องดื่มสำหรับคนที่ต้องการลดการบริโภคน้ำตาล อย่างไรก็ตามเรื่องภาษีก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะมาช่วยเรื่องนี้”

ขณะที่รศ.พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย สาขาวิชาโภชนวิทยา เเละชีวเคมีทางการเเพทย์ คณะเเพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเสวนา “อาหารสมดุลเพื่อสุขภาวะ Healthy Balanced Diet สุขภาพดีเริ่มได้ทุกมื้ออาหาร” ถึงการลดน้ำหนักด้วยคีโต ที่มีการจำกัดการกินคาร์โบไฮเดรต ห้ามรับประทานผลไม้ จำกัดอาหาร อาจเป็นวิธีการที่ดีสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักมาก แต่ควรทำในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

รศ.พญ.ประพิมพ์พร กล่าวอีกว่า ข้อควรระวังและต้องดูแลอย่างใกล้ชิดการที่เราทานไขมันเยอะ ๆ นั้น ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ น้ำหนักอาจจะลดลงในช่วงแรก แต่พอตรวจเลือดอาจมีปัญหาเรื่องคอเรสเตอรอลตามมา อีกทั้งหากทำต่อเนื่องในระยะยาวจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน จึงควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการ และหากหยุดแล้วกลับมาใช้ชีวิตในแบบเดิมน้ำหนักก็จะกลับมาทำให้อ้วนเท่าเดิม สิ่งที่ดีที่สุดคือการรับประทานอาหารให้สมดุล

​“วิธีการอย่างไอเอฟ การจำกัดช่วงเวลาในการรับประทานอาหาร จะคล้ายกันกับแนวทางที่มีมาเดิมคือ การให้รับประทานอาหารเช้าในปริมาณมาก กลางวันทานในปริมาณพอสมควร และเย็นก็ลดปริมาณลงให้น้อยกว่าสองมื้อ หากทำร่วมกับการปรับอาหารให้สมดุลจะทำให้ได้ผลดี แต่ไอเอฟก็ยังมีข้อจำกัดสำหรับผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจำตัว รวมถึงวัยเด็ก และต้องปรับตามความต้องการของแต่ละคนด้วย สิ่งที่ดีที่สุดคือการรับประทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ ดูเรื่องสารอาหารว่าได้ครบหรือไม่ หากเป็นอาหารที่มีการปรุงแต่งน้อยจะดีต่อสุขภาพมากกว่า"

 สำหรับช่วงเทศกาลกินเจ รศ.พญ.ประพิมพ์พร อยากให้เน้นอาหารที่ไม่แปรรูป เน้นที่ผักและโปรตีนให้เพียงพอ

ด้าน เชฟตุ๊กตา สุพัตรา สารสิทธิ์ (เชฟกะทะเหล็ก) กล่าวว่า ประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่น ๆ เพราะมีพืชผักมากมายที่สามารถนำมาปรุงอาหารได้ และใช้ประโยชน์ได้หมดทั้งราก ใบ จะให้ดีควรรับประทานผักตามฤดูกาล ทานอาหารให้เป็นยาได้ง่าย ๆ ด้วยเมนูแนะนำอย่าง สมุนไพรไฟแดง โดยเอาผักหลากหลายชนิดมาผัดด้วยกัน ช่วงนี้ก็มีผักขจร ผักหวาน และแนะนำให้ปรุงแค่เล็กน้อย

​“ช่วงฤดูฝนคนเป็นหวัดกันเยอะ แนะนำให้ทานพืชผักที่มีวิตามินซีอย่างตระกูล "มะ" ที่ให้รสเปรี้ยว อย่างต้น "มะขาม" ข้างบ้านนำใบอ่อนมาต้มยำ มาแกง หรือช่วงนี้มี "มะดัน"ออกเยอะนำมาทำปลาทูต้มมะดันก็ได้ ดอกไม้ที่มีมากมายก็นำมาปรุงอาหารได้ด้วยเช่นกัน ผักทุกชนิดมีประโยชน์ทั้งนั้น เครื่องแกงของไทยเองก็มีส่วนผสมที่เป็นยา ทั้งหอม กระเทียม พริก พอผสมรวมกันในแกงหม้อหนึ่งฤทธิ์ของแต่ละอย่างจะหักล้างกันอย่างลงตัว สำหรับเด็กการหัดให้ทานผักแนะนำให้เริ่มจากผักที่ไม่มีรสหรือกลิ่นมากนัก อย่างแครอทต้มบดกับฟักทอง แกงจืดตำลึงใส่หมูสับหรือตับ ค่อย ๆ สร้างความคุ้นเคยตั้งแต่เล็ก ๆ”

​ขณะที่ ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ แนะนำว่า ต้องเริ่มตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ ให้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อยากให้เดินทางสายกลางไม่งด อด หรือทานมากไป และสิ่งที่ดีที่สุดคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะสารอาหารต่าง ๆ ที่แม่รับประทานจะส่งต่อไปยังลูก หากแม่รับประทานอาหารที่หลากหลายลูก็จะเปิดรับความหลากหลายเพิ่มขึ้นเอง ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าคุณแม่ที่ให้นมลูกจะผอมไว เพราะการให้นมลูกก็เหมือนกับการเบิร์นไปในตัว เด็กเองก็มีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ให้นมแม่ต่อเนื่อง 6 เดือน แล้วค่อยเริ่มเสริมอาหารตามวัน ซึ่งไม่ควรเป็นอาหารไดเอทแบบผู้ใหญ่เพราะเด็กต้องการพลังงานสูง หากดื่มน้ำน้อยก็จะเกิดอาการท้องผูกอีก หลังจาก 5 ขวบแล้วจึงค่อยปรับสมดุลแบบเดียวกับผู้ใหญ่

“เราพบว่าเด็ก 5-18 % เป็นโรคอ้วนและขาดสารอาหาร 10-20% มีภาวะขาดธาตุเหล็ก และหากขาดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานก็จะทำให้ไอคิวลดลง ขณะเดียวกันอย่าให้เด็กรู้จักกับอาหารอย่างเฟรนท์ฟราย หรือแคบหมูเร็วเกินไป ควรเริ่มให้รับประทานผักตั้งแต่ช่วง 7-8 เดือน เด็กจะค่อย ๆ คุ้นเคยเอง ซึ่งสิ่งแวดล้อมในบ้านเองก็สำคัญ พ่อแม่อาจจะควบคุมอาหาร แต่คุณตาคุณยายจะให้ขนม”

​อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะ และรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai กล่าวถึงแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เองก็มีการปรับตัวไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค มีการสร้างตัวเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ ให้ผู้บริโภคเห็นประโยชน์ โดยร่วมกับกรมอนามัยรณรงค์เรื่องลดหวาน โดยมีการเพิ่มฟังก์ชั่นกำหนดระดับความหวาน ซึ่งตอนนี้เกือบทุกร้านในแพลตฟอร์มมีตัวเลือกนี้ให้บริการลูกค้า โดยเราเปิดโอกาสให้ร้านเป็นผู้ตั้งค่าเอง เมื่อผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้น เจ้าของร้านเองก็ต้องตามเทรนด์ผู้บริโภคให้ทันด้วยเช่นกัน


 

 

ความคิดเห็น