“นฤมล” ร่วมมือ “Tencent" ลุย Social Commerce สินค้าไทย และ soft power ไทยส่งตรงสู่ลูกค้าจีนผ่าน WeChat 1,400 ล้านคน
ผู้แทนการค้า เปิดเผยว่า พฤติกรรมด้านการซื้อสินค้าและการชำระเงินของคนจีนเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 การค้าขายออนไลน์เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่รูปแบบของการค้าขายออนไลน์ก็ได้รับการพัฒนาไปมากเช่นกัน แพลทฟอร์ม e-commerce แบบเดิมที่เจ้าของแพลทฟอร์มเป็นผู้ได้กำไรสูงสุดค่อยๆได้รับความนิยมลดลง และถูกทดแทนด้วยแพลทฟอร์มแบบ social commerce ที่เปิดโอกาสให้ผู้ค้าสามารถสร้างกำไรได้มากขึ้น ผ่าน mini-platform ของตนเอง ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า และสามารถเข้าถึงความต้องการของผู้ซื้อได้ตรงใจกว่าด้วยเทคโนโลยี AI
ผู้แทนการค้า กล่าวว่าจากข้อมูลสถิติที่สะท้อนว่า Tencent มีจำนวนผู้ใช้บริการและมูลค่าการซื้อขายสินค้าบน mini platform แซงหน้า หลายแพลทฟอร์มในจีน วันนี้ จึงได้มีการหารือถึงการนำเทคโนโลยีด้าน Social commerce ของ Tencent มาส่งเสริมสินค้าไทย และ soft power ของไทย รวมตลอดถึงการสร้างประโยชน์ด้านการเกษตร เช่น การพิสูจน์แหล่งที่มาของสินค้าเกษตรไทย
ทั้งนี้ บริษัท Tencent เป็นเจ้าของ WeChat ซุปเปอร์แอพพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศจีน เพียงติดตั้ง WeChat ก็จะสามารถเชื่อมต่อกับ แพลตฟอร์มโซเชียลและการบริการข้อมูลออนไลน์ได้หลากหลาย เพราะ WeChat สามารถเชื่อมคน ข้อมูล การบริการ และการอำนวยความสะดวกทุกอย่างเข้าด้วยกันในแอพพลิเคชันเดียวที่สามารถตอบสนองผู้บริโภคในทุกช่องทาง โดยเชื่อว่ากลยุทธ์การเชื่อมต่อผ่านกลไกของ WeChat ในการส่งต่อข้อมูลสินค้าไทยจากปากต่อปากจนเกิดเป็นความเชื่อมั่นในตัวสินค้า จะนำไปสู่กระบวนการซื้อขายออนไลน์แบบครบวงจรที่เชื่อมโยงกับร้านค้าต่างๆ ในประเทศไทย
“รัฐบาลให้ความสำคัญนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบัน โครงการของรัฐบาลหลายๆ โครงการได้นำระบบ AI และเทคโนโลยีคลาวด์เข้ามาใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อำนวยความสะดวก และเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน การนำเทคโนโลยี social commerce มาสนับสนุนสินค้าไทย และ software ของไทย จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย และเกษตรกรไทยในการเข้าถึงลูกค้าจีนได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง และจะสร้างให้เกิดความสมดุลทางการค้าระหว่างไทย-จีน มากยิ่งขึ้น”ผู้แทนการค้าย้ำ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น