นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า กลุ่มผู้ประกอบการ นับเป็นฐานเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ ซึ่ง สสว. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านระบบการให้บริการสนับสนุน ด้านการพัฒนาธุรกิจ ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ “SME ปัง ตังได้คืน” มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว
รักษาการแทน ผอ. สสว เผยอีกว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 32,922 ราย มีการให้บริการที่เพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบัน มากถึง 610 บริการ จาก 130 ผู้ให้บริการทางธุรกิจ หรือที่เราเรียกโดยย่อว่า BDSP (Business Development Service Provider) ซึ่งมีครอบคลุมทุกสาขาบริการ ไม่ว่าจะเป็น ด้านมาตรฐาน การบริหารจัดการธุรกิจ การตลาด รวมไปถึงด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้ประกอบการ สามารถเลือกรับบริการเพื่อพัฒนาธุรกิจได้เอง ตามความต้องการของแต่ละธุรกิจ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS โดย สสว. พร้อมจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนา SME แบบร่วมจ่าย (Co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-90 วงเงินสูงสุด 200,000 บาท ตามขนาดของธุรกิจ”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สสว.ได้จัดทำ Rating เพื่อประกอบการพิจารณามอบรางวัลผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) ดีเด่นประจำปี 2567 โดยมีแนวทางการมอบรางวัล จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ 1.ด้านการประสานงาน (Coordinating) 2.ด้านการสร้างเครือข่าย (Networking) 3.ด้านการสร้างบริการที่ผู้ประกอบการสนใจ (Service approach) : และ 4.ด้านการดำเนินงาน (Operating)
นอกจากนี้ สสว. ยังได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลผู้ให้บริการทางธุรกิจดีเด่น ภายในงานแถลงข่าวความสำเร็จและมอบโล่เกียติคุณแก่ผู้ให้บริการทางธุรกิจดีเด่นภายใต้ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ปีงบประมาณ 2567 หรือ “SME ปังตังได้คืน” โดยมีรายนามผู้ชนะรางวัลในด้านต่างๆ ดังนี้
1.ด้านการประสานงาน (Coordinating) : พิจารณาจากหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่ได้ดำเนินการประสานงานระหว่าง ผู้ประกอบการ SME และ สสว. เพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่นและรวดเร็ว ในการให้บริการผู้ประกอบการ SME ผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
2. ด้านการสร้างเครือข่าย (Networking) พิจารณาจากหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่มีการสร้างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อสามารถต่อยอดความสามารถในการให้บริการที่หลากหลายให้กับผู้ประกอบการ SME ผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
3. ด้านการสร้างบริการที่ผู้ประกอบการสนใจ (Service approach) พิจารณาจากหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่ได้ดำเนินงานเสนอ บริการที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ SME บนแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS ผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ A. มูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม B. มูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
4. ด้านการดำเนินงาน (Operating) พิจารณาจากหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่สามารถเชิญชวนผู้ประกอบการ SME เข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ BDS ได้จำนวนมาก เพื่อได้รับบริการจากหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจต่อไป ผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น