TCMA ยกระดับ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ ต้นแบบนิเวศนวัตกรรม คลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย สู่โชว์เคสระดับโลก World Economic Forum เร่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เผยความก้าวหน้าอีกขั้น นำ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ เข้าร่วมโครงการระดับโลก Transitioning Industrial Clusters Initiative โดย World Economic Forum นับเป็นคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย เป็นลำดับที่ 3 ของอาเซียน และเป็นลำดับที่ 21 ของโลก ในการเสริมพลังความร่วมมือแห่งการลงมือทำ นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต เร่งเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สนับสนุนเป้าหมายเมืองคาร์บอนต่ำ

ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ หรือ SARABURI SANDBOX LOW CARBON CITY นับจากที่ภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม (Public-Private-People Partnership: PPP) ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์บูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดสระบุรี โครงการจังหวัดต้นแบบ-สระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 โดยการนำของผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ด้วยการสนับสนุนของสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และ 7 กระทรวงหลัก

ผ่านการร่วมทำงานกว่า 21 หน่วยงานพื้นที่ พร้อมด้วยภาคประชาสังคม ที่จะได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ จนถึงวันนี้ปีเศษ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ มีพัฒนาการและความก้าวหน้าดำเนินงานเป็นอย่างมาก รวมถึงสร้างการยอมรับในหลายเวทีระดับโลก

 ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลก ถึงความโดดเด่นด้านแนวคิดการขับเคลื่อน การเป็นต้นแบบนิเวศนวัตกรรมการทำงานร่วมกันเชิงพื้นที่อย่างจริงจัง ระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน-

ภาคประชาสังคม ที่มีเป้าหมายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการดำเนินงานที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก หรือปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ในงานก่อสร้างทั่วประเทศ และเป้าหมายยกเลิกการผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนสูงในปี พ.ศ. 2568 การเร่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่มีความชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือก (Alternative Fuels: AF) จากชีวมวล (Biomass) จากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) และเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) ความร่วมมือสร้างศักยภาพสู่ Grid Modernization เชื่อมโยงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด รวมถึงการศึกษาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นการดำเนินงานร่วมกันที่สำคัญที่ TCMA ได้นำเสนอสู่เวทีระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP อย่างต่อเนื่อง  โดยการสนับสนุนของภาครัฐ และ Global Cement and Concrete Association (GCCA) ส่งผลให้เกิดการจัดการประชุม

สุดยอดผู้นำอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีต GCCA CEO Gathering and Leader Conference 2024

ในประเทศไทย การรวมตัวของผู้ผลิตปูนซีเมนต์และคอนกรีตจากทุกภูมิภาคทั่วโลกเพื่อร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งการประกาศสนับสนุนกรีนฟันด์ หรือกองทุนสีเขียวจากรัฐบาลแคนาดากว่า 200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตของไทยเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050

 ในการประชุมสุดยอดระดับโลกที่สำคัญ Climate Week New York City 2024 เมื่อเร็วนี้

‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ได้รับการประกาศเข้าร่วมใน Transitioning Industrial Clusters Initiative โดย World Economic Forum นับเป็นคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย เป็นลำดับที่ 3 ของอาเซียน และเป็นลำดับที่ 21 ของโลก ผนึกกำลังกับประชาคมโลกดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ

 “TCMA มีความยินดียิ่งที่นิเวศนวัตกรรมความร่วมมือ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการริเริ่มการเปลี่ยนผ่านกลุ่มอุตสาหกรรม (Transitioning Industrial Clusters Initiative) ของ World Economic Forum นับเป็นก้าวสำคัญของการร่วมกันขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์สู่เมืองคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเป็นการย้ำจุดยืนและศักยภาพของ TCMA และสมาชิกซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกราย ที่พร้อมดำเนินงานร่วมกับคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยการสนับสนุนของภาครัฐ เร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสีเขียว เสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ สร้างผลลัพธ์แบบ win-win-win เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายผ่านแนวทางดำเนินงานด้านเทคโนโลยี ด้านนโยบาย ด้านความร่วมมือ และด้านการเงิน ผสมผสานกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดจากสมาชิก Transitioning Industrial Clusters Initiative” ดร. ชนะ กล่าวทิ้งท้าย ภายหลังร่วมนำเสนอความก้าวหน้าดำเนินงาน Partnership in Focus ในการประชุม High Level Ministerial/CEO Roundtable at the Sidelines of the Summit of the Future

‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เป็นการลงมือปฏิบัติเชิงพื้นที่ (Area Based) ที่จำลองจังหวัดสระบุรีให้เป็นเสมือนตัวแทนประเทศไทย เป็นต้นแบบแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยแนวคิด 3C

การสื่อสารสร้างความเข้าใจ-การร่วมลงมือทำ-การสรุปถอดบทเรียนเพื่อการพัฒนาต่อยอดขยายผล (Communication-Collaborative Action-Conclusion step-by-step) ผ่านโครงการต้นแบบที่สอดคล้องกับ Thailand NDC Roadmap ที่มีเป้าหมายนำประเทศไทยสู่การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

TCMA ผนึกกำลังดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง กับทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม ครอบคลุม 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use: IPPU) ด้านพลังงาน (Energy) ด้านการจัดการของเสีย (Waste) ด้านการเกษตร (Agriculture) และด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use, Land-Use Change and Forestry : LULUCF) การมีโครงการต้นแบบเหล่านี้มากๆ จะเป็นตัวอย่าง ทำให้เห็นแนวทางดำเนินการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เรื่องใดทำได้จะนำไปขยายผลสู่จังหวัดอื่น เรื่องใดติดขัดก็นำมาหาแนวทางแก้ไขหรือหาทางออกที่ดีต่อไป

ความคิดเห็น